การเตรียมตัวก่อนนำลูกไก่เข้ามาเลี้ยงในโรงเรือน ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก หากมีการเตรียมการที่ถูกต้องเหมาะสมจะให้การเลี้ยงไก่ได้ผลดี โดยจะมีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้
จัดเตรียมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อนนำไก่เข้ามาเลี้ยงต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคภายในโรงเรือนให้เรียบร้อย รวมถึงเรื่องของอุปกรณ์ต่าง ๆ และบริเวณที่เป็นซอกมุม ฝา พื้น ลวดตาข่าย เพดาน โดยการฉีดพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อให้ทั่วถึง การกระทำเช่นนี้ควรปฏิบัติให้สม่ำเสมอแม้กระทั่งเมื่อนำไก่เข้ามาเลี้ยงแล้วก็ตาม จะทำให้ไก่ชินและไม่ตื่น ส่วนไหนที่มีการชำรุดให้รีบซ่อมแซมหลังทำความสะอาดให้ปิดโรงเรือนเพื่อป้องกันคนหรือสัตว์เข้าไปภายใน
สำหรับอุปกรณ์หรือถังน้ำรางอาหารให้นำออกมาทำความสะอาด ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนจะนำกลับไปเตรียมเพื่อใช้ใหม่ทุกครั้ง
การจัดการปูพื้นคอก เมื่อขายไก่ใหญ่ออกแล้ว ควรรีบนำสิ่งรองพื้นและมูลไก่ออก ใช้วัสดุรองพื้นคอกที่ใหม่ แห้งและสะอาด เช่น ขี้กบ ขี้เลื่อย แกลบ ฯลฯ การปูรองพื้นคอกควรปูให้มีความหนาประมาณ 2-3 นิ้ว ซึ่งวัสดุรองพื้นนี้ต้องมีความชื้นประมาณ ร้อยละ 20-25 หากไม่เป็นเช่นนั้นควรใช้การพ่นน้ำเป็นละอองฝอยทั่วไปแทนได้ การสังเกตุว่าวัสดุที่รองพื้นนั้นมีความชื้นเหมาะสมหรือไม่ คือการใช้มือกอบวัสดุรองพื้นขึ้นมาแล้ว กำมือบีบให้แน่นตัววัสดุจะจับกันเป็นก้อนและคลายตัวออกเมื่อเราคลายมือจากวัสดุ และจะตกลงเมื่อปล่อยมือ สำหรับการทำความสะอาดวัสดุรองพื้นเมื่อนำไก่เข้ามาเลี้ยงภายในโรงเรือนแล้วนั้น จะทำการกลับวัสดุรองพื้นด้วยการใช้ลวดตาข่ายกางกั้นไก่ไปด้านหนึ่งของกรง เพื่อความสะดวกในการทำงานแล้วใช้พลั่วตักดินพลิกไปมารอบ ๆ ห้อง หมุนเวียนสลับจนทั่วทั้งกรง การกลับวัสดุรองพื้นจะช่วยลดปัญหา เรื่องการเกิดก๊าซแอมโมเนียอากาศภายในโรงเรือนจะดีขึ้น
การเตรียมที่ให้น้ำและอาหาร ในระยะเวลา 3 สัปดาห์แรกที่ให้น้ำควรเป็นกระติกหรือถังน้ำ วางเป็นจุด ๆ ใกล้กับชายขอบรองฝาเครื่องกก ห่างไม่เกิน 30 เซนติเมตร สำหรับที่ให้อาหารจะจัดเตรียมไว้แต่ยังไม่จัดวางไว้ในกรงจนกว่าลูกไก่จะฟื้นตัวเป็นเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงหลังเริ่มกก การให้อาหารในช่วงสัปดาห์แรกจะใช้ถาดแบน ๆ หรือฝากล่องใส่ลูกไก่นำมาดัดแปลงเป็นถาดใส่อาหาร
การเตรียมเครื่องกก ก่อนลูกไก่มาถึงต้องอุ่นเครื่องกกให้ความร้อนได้เสียก่อนหลาย ๆ ชั่วโมง จนแน่ใจว่าได้ความอุ่นที่เหมาะสม หรือถูกต้อง