สัตว์ปีก » ไก่เนื้อ » การจัดการเมื่อลูกไก่มาถึงฟาร์ม

การจัดการเมื่อลูกไก่มาถึงฟาร์ม

2 กันยายน 2014
4104   0

  เนื่องจากลูกไก่ที่ผ่านการขนส่งนั้นย่อมได้รับผลกระทบต่อสิ่งต่าง ๆ จึงถือได้ว่าอยู่ในช่วงที่อ่อนแอ ในฤดูร้อนควรมีการจัดการในเวลาเช้าหรือเย็น รถที่ทำการขนส่ง

ต้องเป็นรถที่สะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อโรค มีการระบายอากาศดี ไม่ควรมีการซ้อนกล่องลูกไก่มากเกินไป เวลายกขึ้นลงควรอย่าให้กล่องตะแคงมาก เพราะจะทำให้ลูกไก่เทรวมกันจนทับกันได้ และเกิดการเสียหายในที่สุด เมื่อลูกไก่ถึงฟาร์มควรปล่อยลงพื้นอย่างค่อย ๆ เบามือ ห้ามเทลงทั้งกล่องเด็ดขาดเพราะหายส่งผลเสียต่อไก่ได้

การนำไก่เข้ามาเลี้ยง ควรนำไก่เข้ามาเป็นชุดเดียวกันในแต่ละโรงเรือน และให้มีอายุเดียวกัน ไม่ควรทยอยนำเข้าเพราะอาจเกิดปัญหาเรื่องการจัดการ และการป้องกันโรคได้ เมื่อลูกไก่มาถึงฟาร์มแล้วควรปฎิบัติดังนี้

รีบนำลูกไก่ออกจากกล่อง จัดให้อยู่ภายใต้เครื่องกกทันทีเมื่อมาถึง โดยใช้มือช้อนลูกไก่ออกมา แล้วค่อย ๆ วางลงภายในเครื่องกกซึ่งภายในเครื่องกกควรมีแสงสว่างขนาด 25 แรงเทียน เพื่อให้ลูกไก่อยู่ภายในเครื่องกกนี้
ให้ลูกไก่ได้กินน้ำทันที โดยต้องมีการเตรียมเอาไว้ก่อนหน้าแล้วทั้งอาหารและน้ำ แต่ก่อนให้กินควรมีการดูสภาพของลูกไก่เป็นส่วนประกอบคือ ถ้าลูกไก่ร้อนจัดก็อย่าเพิ่งให้กิน รอให้เย็นปกติเสียก่อนจึงให้กินได้ ครั้งแรกลูกไก่จะอ่อนเพลีย ไม่อยากลุกไปไหน จึงต้องสอนให้ลูกไก่กินน้ำและอาหาร โดยทำเสียงกรุ๋งกริ๋งบริเวณที่ให้น้ำและมีน้ำกระเซ็นออกมาเล็กน้อย ลูกไก่ก็จะเข้ามากินเองสำหรับตัวที่อ่อนเพลียมาก อาจจับให้จงอยปากจุ่มน้ำและปล่อยให้ลูกไก่อยู่ตรงนั้น การสอนให้ลูกไก่กินอาหารเป็นก็ต้องทำเช่นเดียวกัน ลูกไก่จะเริ่มกินอาหาร หลังจากที่กินน้ำเป็น และสภาพร่างกายแข็งแรงดีขึ้นแล้ว คือหลังจากปล่อยลงกรงกกประมาณ 3-4 ชั่วโมงในระยะเวลา 3 วันแรก น้ำที่ให้กินควรผสมยาปฏิชีวนะ และวิตามินลงไปด้วย
การตรวจดูความเรียบร้อยหลังจากนำลูกไก่ลงสู่พื้นโรงเรือนแล้วคือ อุณภูมิของเครื่องกก ที่ให้น้ำและอาหาร สภาพทั่ว ๆ ไปของลูกไก่ เมื่อเรียบร้อยดีแล้วควรมีการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ทันที เช่น จำนวนไก่ที่เลี้ยง จำนวนไก่ตาย อุณภูมิภายในโรงเรือน

การกกลูกไก่

การกกลูกไก่ระยะแรกเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเลี้ยงไก่มาก ธรรมชาติของลูกไก่ยังคงต้องการความอบอุ่นจากแม่ แต่ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ซึ่งเลี้ยงเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องหาสิ่งที่จะมาทดแทนความอบอุ่นที่ได้รับจากแม่ไก่ตามธรรมชาติและเพื่อให้ลูกไก่มีความปลอดภัย การกกลูกไก่ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการจะมีผลต่อการเจริญเติบโต ความแข็งแรง และความต้านทานโรคในลูกไก่เป็นอย่างมาก

ผู้เลี้ยงสามารถเลือกได้ว่าจะใช้เครื่องกกแบบใด ถ้าเลี้ยงลูกไก่จำนวนน้อย หรือสำหรับผู้เริ่มต้นใหม่ที่อยู่ในที่มีไฟฟ้าใช้ ควรกกลูกไก่ด้วยหลอดไฟธรรมดา 40-60 แรงเทียน โดยอาจติดหลอดไฟไว้ใต้ฝาเครื่องกกหลาย ๆ หลอด แล้วมีสวิตซ์ปิดเปิดหลอดไฟทีละดวงหรือทั้งหมด เพื่อเพิ่มหรือลดความอบอุ่นได้ตามต้องการ สำหรับการเลี้ยงไก่กระทงเป็นการค้ามักจะเลี้ยงลูกไก่งวดหนึ่งเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการกกจึงใช้เครื่องกกขนาดใหญ่ซึ่งจะมีการทำเป็น 2 ขนาด คือ สำหรับกกลูกไก่จำนวน 500 ตัว และ 1,000 ตัว

ความอบอุ่นสำหรับลูกไก่ภายใต้เครื่องกกในสัปดาห์แรกตั้งต้นด้วย 35 องศาแล้วค่อย ๆ ลดลงมาเหลือ 32.2 และ 29.4 เซลเซียสในสัปดาห์ที่ 2 และ 3 หลังจากนั้นก็ยกออกไปได้ใน ขอบของฝากระโจมเครื่องกกจะต้องอยู่สูงกว่าระดับพื้นคอกประมาณ 12 นิ้ว และต้องปรับให้สูงขึ้นด้วยเมื่อลูกไก่มีอายุที่มากขึ้น

การบังคับความร้อนภายใต้เครื่องกก ทำได้โดยการตั้งระบบไฟวิธีหนึ่ง (มีชุดควบคุมอุณภูมิที่เครื่องกก) และโดยการเลื่อนกระโจมขึ้นลงอีกวิธีหนึ่ง การวัดอุณภูมิเครื่องกกจะทำโดยการวางปรอทที่พื้นดินสูงประมาณ 2 นิ้ว โดยให้ปลายปรอทอยู่ตรงกับยอดของเครื่องกก อุณภูมิใต้เครื่องกกระดับ 2 นิ้ว จากพื้น ต้องสม่ำเสมอตลอดทั่วเครื่องกก

การกกลูกไก่นี้บางขณะอาจมีการคลาดเคลื่อนในการควบคุมอุณภูมิของเครื่องกก หรือเทอร์โมมิเตอร์อาจมีการผิดพลาดได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือ การใช้ตัวลูกไก่เองเป็นเครื่องแสดงว่าอุณภูมิที่กกนั้นพอดีหรือไม่ โดยวิธีการตรวจดูแลลูกไก่ เช่นการนอนราบไม่สุมทับกัน การกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ส่งเสียงร้องผิดปกติ สิ่งเหล่านี้แสดงได้ว่าลูกไก่ปกติดี หากเกิดการสุมทับกันของลูกไก่แสดงว่าลูกไก่มีอาการหนาว ก็ต้องจัดการเพิ่มความอบอุ่นให้แก่มัน หากหนีห่างเครื่องกก อ้าปีกออก และอ้าปากหอบ แสดงว่าร้อนเกินไป ควรทำการลดอุณภูมิลงให้พอเหมาะ ควรมีแผงไม้หรือแผงลวดตาข่าย ขนาดตากว้าง3/4 นิ้ว สูง 12 นิ้ว กั้นห่างจากฝาเครื่องกกออกมา 2-3 ฟุต เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกไก่ออกห่างจากเครื่องกกมากเกินไปวันต่อมาจึงค่อยยกที่กั้นเหล่านี้ห่างออกมาทีละนิด ราว 2-7 วัน เมื่อลูกไก่รู้จักเข้าหาเครื่องกกได้เอง ก็เลิกใช้แผงกั้นนี้ได้

ตามปกติในเมืองเราอาจเลิกใช้เครื่องกกเมื่อลูกไก่อายุ 3-4 อาทิตย์ หรือใช้เมื่อเวลาที่มีอากาศเย็น เช่นเวลากลางคืน หรือเวลาที่ฝนตกและมีลมโกรก เพราะอากาศปกติอยู่ที่อุณภูมิในระดับ 35 องศาเซลเซียสอยู่แล้ว ต้องคอยระวังดูแลไก่เมื่อหนาวอย่าให้ซ้อนทับกับมากเกินไปภายใต้เครื่องกก พื้นที่ใต้เครื่องกกต่อจำนวนลูกไก่อาจอยู่ที่ประมาณ ตัวละ 8-10 ตารางนิ้ว หรือดูพอหลวมตัวให้มากไว้ ใน 3-7 วันแรกระวังอย่าให้ลูกไก่เบียดกันหนาแน่นเกินไป เพราะอาจเกิดการทับกันตายหรือป่วยมากได้

การดูแลลูกไก่ในช่วงที่ผ่านมานั้นต้องคอยดูแลอย่าให้ไก่หนาวตายเพราะอากาศเย็นหรือป่วยด้วยอาการท้องร่วงได้ ลูกไก่ที่มีเชื้อโรคขี้ขาวไม่ทนต่ออากาศเย็น ในช่วง3-4 อาทิตย์แรก เนื่องจากระยะนี้ขนของลูกไก่ที่อยู่บนหลังซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใกล้กันกับปอดยังปกคลุมบริเวณนี้ไม่มิด หากปล่อยให้กระทบกับความหนาวมาก ๆ ปอดอาจไม่ทำงานและทำให้มีอาการหงอยซึม หนาวสั่น ในที่สุดไก่จะอ่อนเพลียและตายได้ ดังนั้น การดูแลเอาใจใส่ความอบอุ่นแก่ลูกไก่ในช่วงนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ลมโกรก ฝนตก หรือเวลาดึกและตอนเช้ามืด ถ้าลูกไก่กินอิ่มสบายจะเห็นว่าลูกไก่นอนเรียงรายสงบเงียบใต้เครื่องกกและมีเสียงร้องจิ๊บ ๆ แสดงว่าลูกไก่กำลังอบอุ่นและสบายดี ถ้าหากลูกไก่ร้องเสียงแหลมแบบโหยหวนและนอนสุมทับกันแสดงว่าหนาวเกินไป หากลูกไก่ออกมานอนนอกเครื่องกกก็แสดงว่าร้อนเกินไปอาจมีอาการ อ้าปาก กางปีก ให้เห็นเด่นชัด การดูแลให้อัตราการเลี้ยงรอดสูงและลูกไก่เติบโตสมบูรณ์ดีนั้น อาจกล่าวได้ว่า ความสำคัญของการเลี้ยงไก่นั้น ถือเป็นขั้นตอนที่เรียกได้ว่ายากลำบากที่สุด ถ้าผู้เลี้ยงลูกไก่ได้ผลสมประสงค์ นับได้ว่าผู้นั้นผ่านอุปสรรคต่อการเลี้ยงไก่ไปได้ตอนหนึ่งแล้ว มีทางที่จะยึดถือเป็นอาชีพได้ แต่ถ้าหากเลี้ยงลูกไก่ไม่รอดหรือไม่สำเร็จ ก็ถือได้ว่าไม่น่าเสี่ยงที่จะยึดเป็นอาชีพต่อไป ในทางธรรมชาติอาจไม่มีโรคใด ๆ สำหรับลูกไก่เลยแต่ลูกไก่ก็ยังมีการตายได้ถึง 10 เปอร์เซนต์อยู่แล้ว ดังนั้นถือเป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงต้องดูแลเอาใจใส่กันเป็นพิเศษอย่างจริงจัง ลูกไก่จึงจะตายน้อยที่สุด โดยเฉพาะหลักเกณฑ์สำคัญที่ต้องยึดถือเลยก็คือ ลูกไก่พันธุ์ดี บริเวณเลี้ยงดูที่เหมาะสม กรง โรงเรือนที่ดี การรักษาโรคที่ดี ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก ที่จะทำให้อัตราการเลี้ยงไก่รอดตายสูงสุด การเติบโตของลูกไก่ก็จะแข็งแรงตามความเอาใจใส่เหล่านั้นไปด้วย เพราะไก่ที่เติบใหญ่นั้นจะมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ก็ส่งผลต่อเนื่องมาจากไก่ตอนที่ยังเป็นลูกเจี๊ยบนั่นเอง การเลี้ยงไก่นั้นหากจะให้เกิดความสำเร็จต้องอาศัยความชำนาญในการเลี้ยงไปเรื่อย ๆ คงยากที่จะสำเร็จร่ำรวยเพียงข้ามคืน ทันใจผู้เลี้ยง แต่ต้องสั่งสมประสบการณ์ต่าง ๆ และอาศัยทั้งทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป ความรักไก่ การมีวิจารณญาณดี ปฏิบัติดี มีความสามารถต่อการงานและขยันอดทน เป็นเกณฑ์ที่จะกำหนดประสิทธิภาพงานเลี้ยงไก่ของผู้นั้น

หลักสำคัญอย่างหนึ่งของการซื้อลูกไก่มาเลี้ยงคือ อย่าคิดเพียงแต่ต้องการลูกไก่ที่มีราคาถูก แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพที่ได้รับด้วย เพราะคุณภาพก็ต้องสมดุลย์ไปกับราคาอยู่แล้ว เพราะการเลี้ยง วัตถุดิบต่าง ๆ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่เราต้องใช้ก็เหมือนกัน แต่ผลประโยชน์ปลายทางที่จะได้รับย่อมแตกต่างกันอย่างมาก