การผสมพันธุ์ไก่แจ้สวยงามนั้น มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นไปในด้านของคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพราะต้องการได้ไก่แจ้ที่ได้มาตรฐานคือมีลักษณะและรูปร่างที่ดี
หลักการสำคัญในการผสมพันธุ์ไก่แจ้สวยงามคือ ต้องการผสมพันธุ์กันในสายเลือดเดียวกัน คือการผสมพันธุ์กันในหมู่ญาติหรือตระกูลเดียวกัน เพื่อให้ได้ลูกหลานที่มีลักษณะตามกรรมพันธุ์ มีการถ่ายทอดคุณลักษณะที่เด่นสืบต่อกันในสายตระกูลตามกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการถ่ายทอดลักษณะจากพ่อแม่ไปยังลูก ของเมนเดล
เมนเดลได้ให้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการถ่ายทอดลักษณะจากพ่อ แม่ไปยังลูกไว้ว่ารูปร่างลักษณะจะถูกควบคุมโดยยีนที่เป็นคู่ ประกอบด้วยยีนที่แสดงลักษณะข่ม หรือยีนที่แสดงลักษณะด้อย เมื่อมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแล้ว แสดงลักษณะให้ปรากฎในชั้น เรียกว่า การถ่ายทอดลักษณะทางยีนเป็น ฟีโนไทป์ และถ้าการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแล้วไม่แสดงลักษณะให้ปรากฎในชั้นลูกแต่มียีนที่นำลักษณะใดลักษณะหนึ่งแฝงอยู่ในสายเลือด เรียกว่า การถ่ายทอดลักษณะของยีน เป็น จีโนไทป์ สัญลักษณ์ที่ใช้แทนยีนทางพันธุศาสตร์นิยมใช้อักษรภาษาอังกฤษ ตัวใหญ่แทนยีนที่มีลักษณะเด่นและใช้อักษรตัวเล็กแทนยีนที่มีลักษณะด้อย
กฎของเมนเดล ที่ว่าด้วยการถ่ายทอดลักษณะนี้ สามารถประยุกต์ใช้ได้ พืชและสัตว์ทุกชนิด ไม่เฉพาะกับลักษณะความสูง และความเตี้ยเท่านั้น แต่จะครอบคลุมไปถึงลักษณะอื่น ๆ ที่ต้องการได้ทุกประการ เพราะยีนที่คุมลักษณะต่าง ๆ นั้นมีจำนวนมากมายหลายคู่ด้วยกัน
การผสมพันธุ์ไก่แจ้สวยงาม ถ้ามองกันเฉพาะลักษณะของความสูง และความเตี้ยแล้ว ไก่แจ้ที่มองเห็นภายนอกว่าเตี้ย ๆ นั้นจะมีจีโนไทป์เป็นคู่ที่ต่างชนิดกันเขียนเป็นสัญลักษณ์คือ Tt แสดงว่า ยีน T จะมีลักษณะที่นำยีน T อยู่ ซึ่งแสดงยีน T ที่มีลักษณะแฝง ซึ่งเป็นการตรงข้ามกับการผสมพันธุ์กับสัตว์อื่น ๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องผสมพันธุ์กันในสายเลือด เพื่อให้เกิดลักษณะตามกรรมพันธฺุ์ อย่างไรก็ดีการผสมพันธุ์กันในสายเลือด ก็จะต้องมีลักษณะที่ขายาวปนมาในสายเลือดด้วย เนื่องจากการแตกต่างของยีนจากพ่อและแม่และเกิดจีโนไทป์เป็นคู่ชนิดเดียวกันคือ TT (คือ T ที่ปรากฎออกมาให้เห็น) ในทำนองเดียวกันการแตกต่างของยีนจากพ่อและแม่และก็มีบางส่วนที่มี จีโนไทป์เป็น tt ด้วยซึ่งพวกนี้จะแข็งแรงมักจะตายตั้งแต่อยู่ในไข่ หรือเกิดมาเพียง 2-3 วันก็ตาย
แผนภูมิที่ 1 แสดงการบ่งบอกตัวของยีน
T คือส้ญลักษณ์แทนยีนที่มีลักษณะเด่น ซึ่งในที่นี้จะแสดงลักษณะขายาว t คือสัญลักษณ์แทนยีนที่มีลักษณะด้อย ซึ่งในที่นี้จะแสดงลักษณะขาสั้น
ไก่แจ้โดยทั่วไปจะมีจีโนไทป์เป็นคู่ที่ต่างชนิดกันเขียนเป็นสัญลักษณ์คือ Tt แต่ในไก่แจ้ยีน t กลับมีอิทธิพลนำยีน T ฉะนั้นจึงทำให้ไก่แจ้มีลักษณะที่ปรากฏจเห็นได้ว่าขาสั้นในยีน T กลับเป็นยีนที่มีลักษณะแฝงอยู่ ซึ่งยีน T ก็อาจจะปรากฎออกมาให้เห็นได้ในชั้นลูกตามแผนภูมิ
พ่อ-แม่ Tt + Tt
การแบ่งตัว T ของยีน t T t
ชั้นลูก…TT Tt Tt tt
1 จะแสดงลักษณะขายาวให้ปรากฎเนื่องจากยีน T จากพ่อ และแม่มารวมกัน
2 และ 3 จะแสดงลักษณะขาสั้นตามกรรมพันธุ์ แต่ขาจะสั้นมาก หรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับว่ายีน t จะมีอิทธิพลจำยีน T ได้มากน้อยเพียงใด
4 ในกรณีที่ยีน t จากพ่อ และแม่มารวมกันพวกนี้จะอ่อนแอมักตายตั้งแต่อยู่ในไข่ไม่อาจเกิดเป็นตัวได้ หรือหากเกิดเป็นตัวได้ก็จะอยู่ได้เพียง 2-3 วันก็จะตายหมด
แผนภูมิที่ 2 แสดงวิธีผสมพันธุ์แบบสายเลือดแบบหนึ่ง
คือ ตัวผู้ที่เด่นสุดในชั้น F1 นำมาเป็นพ่อพันธุ์หลักตัวแรก
คือตัวผู้ที่ดีเด่นไม่แพ้ตัวแรกในชั้น F2 นำมาเป็นพ่อพันธุ์หลักตัวที่สอง F1 F2 F3 F4 หมายถึงชั้นลูกที่ 1,2,3,4 ตามลำดับ สมมุติว่า ตัวเมีย NO 2,3,4,6,8,9,10 เป็นตัวเมียที่ดีที่สุดในแต่ละรุ่น
ตามแผนภูมิที่ 2 เป็นตัวอย่างที่ดีวิธีหนึ่งตัวการคือ เนื่องจากการคัดพันธุ์หลักที่มีลักษณะตามต้องการครบถ้วนจากแหล่งหนึ่งนำมาผสมพันธุ์หลัก แล้วนำมาผสมกับแม่พันธุ์ตัวเมียที่เด่น ในชั้นเดียวกัน(ครอกเดียวกัน)แล้วคัดลูกตัวผู้ในชั้น F2 ย้อนกลับไปผสมกับพ่อพันธุ์ตัวหลักตัวที่ 2 จะได้ลูกในชั้น F4 เป็นไก่แจ้ที่มีลักษณะยีนตามสายพันธุ์
การผสมพันธุ์แบบสายเลือดเดียวกันนี้จะต้องพิถีพิถัน และเข้าใจในการที่จะเก็บลักษณะที่ดี และแก้ลักษณะที่ไม่พึงประสงค์และต้องคอยสังเกตุการที่มีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และด้อยลง เช่น ขนรัดตัว หงอนเล็กลง หางเอียง ไข่น้อยลงหรือไม่ไข่เลยตลอดจนพิการได้ เหล่านี้ต้องรีบนำสายพันธุ์อื่น ๆ เข้ามาสับสายเลือดตามความเหมาะสม
วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการผสมแบบสายเลือดเดียวกันนั้นคือ การตั้งสายพันธุ์ขึ้น 2-3 สายพันธุ์หรือมากกว่านี้โดยเริ่มต้นจากบรรพบุรุษเดียวกันแล้วแยกออกเป็นสาย ๆ แล้วผสมในสายเลือดเดียวกันของแต่ละสายจนกระทั่งประมาณ ชั้น F5 หรือ F6 จึงทำการสลับสายกัน ถ้าบางสายที่ตั้งไว้นี้เคยมีการนำเอาสายพันธุ์มาจากแหล่งอื่น เข้ามาเพื่อแก้ลักษณะที่ไม่ต้องการบ้างแล้ว ก็เป็นการดีเท่ากับว่าเราได้แก้ลักษณะไว้แล้วในแต่ละสายดังนั้นเมื่อนำชั้น F5 หรือ F6 มาข้ามสายกันเองก็เท่ากับว่าผสมในสายเลือดห่าง แต่ตระกูลเดียวกันที่บรรพบุรุษมีความเกี่ยวพันทางเครือญาติ
การผสมพันธุ์ไก่แจ้ให้มีคุณภาพนั้นมิใช่จะมองเฉพาะตัวพ่อ- แม่เท่านั้นแต่ต้องมองถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ด้วย เพื่อจะเก็บลักษณะที่ดีของไก่แจ้ให้ปรากฎมาให้เห็นในชั้นลูกให้ได้ อนึ่งการเริ่มต้นจากพ่อ แม่ไก่แจ้ที่นอกสายตาแต่ว่าเป็นไก่แจ้ที่มาจากสายพันธุ์ที่ดีเด่น เราก็สามารถใช้ความพยายามตามหลักการนี้ ผสมจนได้ลูกหลานที่ดีเด่นได้เช่นกัน
หลักการผสมพันธุ์
– พ่อพันธุ์ที่ขาสั้น สุขภาพสมบูรณ์ 1 ตัว ต่อตัวเมีย 3-4 ตัว
– พ่อพันธุ์ที่ขายาว สุขภาพสมบูรณ์ 1 ตัว ต่อตัวเมีย 4-5 ตัว
– พ่อพันธุ์ที่ขาสั้น 1 ตัว ต่อตัวเมีย 2-3 ตัว
– พ่อพันธุ์ที่ขาสั้นลักษณะไม่สมบูรณ์ต่อ ตัวเมีย 1-2 ตัว
ควรมีการคัดเลือกแม่พันธุ์ที่มีลักษณะรูปร่างและสีสันที่ได้มาตรฐานหรือใกล้เคียง (ในกรณีที่ไก่สีหลัก) หรือตัวใดตัวหนึ่งได้มาตรฐานหรืออีกตัวหนึ่งมีลักษณะใกล้เคียง (ที่เหมาะสมควรให้พ่อพันธุ์ 1 ตัวต่อแม่พันธุ์ 2 ตัว) ในการผสมพันธุ์ควรมีการคัดเลือกสายพันธุ์ค่อนข้างดีหรือนิ่งพอสมควร เนื่องจากการผสมพันธุ์หากไม่พิจารณาหรือเน้นสายพันธุ์ลูกเกิดมาจะไม่มีการพัฒนา หรืออีกนัยหนึ่งลูกที่เกิดมาจะมีรูปร่างหรือสีสันที่ไม่ถูกต้องตามต้องการ ฉะนั้นควรเน้น และเลือกเฟ้นสายพันธุ์ด้วย เพื่อเป็นการสร้างและพัฒนาสายพันธุ์
หลักทั่วไปในการคัดเลือกพ่อ แม่พันธุ์ไก่แจ้
1. หน้าใหญ่ คือมีหงอนหนา และใหญ่หน้าหงอนจรดปลายปากท้ายรีหงอนโค้งได้รูปกับท้ายทอย หรือกะโหลกหัว จักหงอนมีจำนวน 4-5 จัก แต่ละจักจะเรียงอย่างได้สัดส่วนกัน เนื้อหงอนมีเม็ดทราย เห็นได้ชัดเจน ดวงตากลมใส หูทาบกับหน้าอก
2. ลำตัวสั้นพอประมาณ หัวไหล่กว้าง หน้าอกกลมโตยื่นไปข้างหน้าเวลาเดินและยืน (หางตั้งตรงขนานกับมุมหางชัย)
3. หางเปิดบานพอสมควร หางชัยแข็งตั้งตรง
4. ขาสั้นใหญ่แข็งแรง มีสีแดงเหนียงกลมใหญ่ห้อย
วิธีการผสมพันธุ์ไก่ กรมปศุสัตว์ได้แนะนำวิธีไว้ดังนี้
มีทั้งหมด 2 วิธี คือ วิธีธรรมชาติและวิธีผสมเทียม
การผสมพันธุ์ธรรมชาติเป็นการผสมฝูงคือ พ่อพันธฺุ 1 ตัว กับแม่ 10-12 ตัว การผสมฝูงเล็กดีที่สุด คือฝูงละ 11 ตัว แม่ 10 ตัว หรือจะผสมฝูงใหญ่ก็ได้ ถ้าพ่อแม่พันธุ์มากจากชุดเดียวกัน เพราะจะไม่จิกตีกัน ช่วยประหยัดโรงเรือนเช่น พ่อพันธุ์ 10 ตัว แม่พันธุ์ 100 ตัว เป็นต้น
การผสมเทียมใช้เพื่องานวิจัย เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ประวัติของไก่แต่ละตัว ว่าไก่ตัวนั้น ๆ เกิดจากการผสมของพ่อตัวใดและแม่ตัวไหน ซึ่งการผสมเทียมสามารถให้คำตอบนี้ได้ แต่แม่ไก่ต้องเลี้ยงอยู่ในกรงขังเดี่ยว เวลาไข่ออกมาใช้ก็ใช้ดินสอเขียนหมายเลขแม่และพ่อลงเปลือกไข่การผสมเทียมพ่อ 1 ตัว สามารถผสมเทียมกับตัวแม่ได้ 30-50 ตัว ผสมสัปดาห์ละ 2 ครั้งก็พอ การผสมครั้งหนึ่งน้ำเชื้อสามารถอยู่ในท่อนำไข่ของตัวเมีย 5-7 วัน วิธีผสมเทียมในการปฎิบัติมี 2 ขั้นตอนดังนี้
1. ขั้นตอนการรีดน้ำเชื้อตัวผู้ การรีดน้ำเชื้อจากไก่พ่อพันธุ์ต้องใช้คน 2 คนคือคนอุ้มไก่ตัวผู้กระชับไว้ที่เอวยื่นหางไก่ออกข้างหน้า หัวไก่อยู่ด้านหลังของคนอุ้ม การอุ้มนั้นจะมีเทคนิค คือ จะต้องจับไก่กระชับไว้ที่เอวด้านขวามือ ให้ไก่อยู่ระหว่างเอวกับแขนขา กดไก่ไว้หรือโยกไปโยกมา ขณะที่อีกคนทำการรีดน้ำเชื้อไก่ การอุ้มไก่ที่ถูกต้องนั้นมือขวาจับขาไก่ทั้งสองข้างรวบเข้าหากัน โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางอยู่ระหว่างขาทั้งสอง ป้องกันเวลารวบขาไก่เข้าหากันไก่จะเจ็บเข้าที่จุดจับขาไก่ไว้อยู่ระหว่างหัวเข่าข้อต่อระหว่างแข้งกับโคนขา ส่วนมือซ้ายของผู้อุ้มไก่จับอยู่ที่ใต้ท้องและใต้ปีกกระชับเข้าหากันช่วยไม่ให้ไก่โยกโครงเครง ส่วนคนที่รีดน้ำเชื้อไก่ คนที่รีดน้ำเชื้อในมือขวา ถือกรวยเล็กสำหรับรองน้ำเชื้อ หรือก็เป็นแก้วน้ำขนาดเล็กขนาดประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 นิ้ว อาจเป็นพลาสติกแทนแก้วก็ได้ ข้อสำคัญคือภาชนะต้องสะอาดล้างด้วยน้ำกลั่น หรือน้ำเกลือที่เตรียมไว้สำหรับเจือจางน้ำเชื้อไก่ถึงเวลารีดน้ำเชื้อไก่ คนรีดใช้มือซ้ายลูบหลังพ่อไก่เบา ๆ จากโคนปีกผ่านมาที่หลัง และโคนหลังพอถึงโคนหางใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้บีบกระตุ้นอย่างรวดเร็ว ที่โคนหางไก่จะมีความรู้สึกเสียว และแสดงปฎิกิริยาการกระดกหางขี้นพร้อม ๆ กับดันอวัยวะเพศ รูปร่างเป็นลอนคู่ปลายแหลม ยื่นออกมาจากรูทวารให้เห็นเป็นอวัยวะเพศดังกล่าวเป็นที่เก็บน้ำเชื้อ และฉีดน้ำเชื้อในเวลาผสมพันธุ์ ซึ่งวางอยู่เหนือรูที่ไก่ไว้สำหรับถ่ายข้อมูล อวัยวะเพศผู้นี้ ปกติจะหดตัวเก็บไว้ภายในมองไม่เห็น เวลารีดน้ำเชื้อมีเทคนิคสำคัญคือ ความเร็วระหว่างที่บีบกระตุ้นโคนหางให้หางไก่กระดกชี้ขึ้น กับการเปรียบมือมาบีบโคนอวัยวะเพศที่กล่าวด้านบน ถ้าทำได้เร็วก็จะทำให้ได้น้ำเชื้อมาก ในด้านการปฏิบัติจริงแล้ว พอกระตุ้นโคนหางด้วยนิ้วมือซ้ายแล้วไก่กระดกหางขึ้น ผู้รีดต้องเอามือซ้ายมาเปิดก้นไก่โดยใช้ฝ่ามือซ้ายลูบจากบริเวณใต้ทวารดัน ดันปากขึ้นด้านบนเพื่อเปิดให้เห็นอวัยวะเพศอีกครั้ง ช่วงที่เอามาลูบเปิดทวารไก่นี้ ไก่จะมีความรู้สึกทางเพศและจะกดหางของมันดันสวนทางกับมือผู้รีดแล้วมันจะผ่อนคลายแรงกดลงมาขณะที่มือของเราลูบผ่านทวาร จังหวะนี้อวัยวะเพศจะโผล่ออกมามาก ปากทวารจะเปิดกว้างออกมาให้เห็นอวัยวะเพศคู่สีชมพูได้ชัดเจน ใช้หัวแม่มือและรีดน้ำเชื้อออกมาจากด้านโคนของโคนอวัยวะเพศออกมาจากด้านนอกจะเห็นมีน้ำเชื้อสีสดขาวขุ่นไหลออกมาจากนั้นก็ใช้ภาชนะในมือขวาไปรองน้ำเชื้อให้ดูดี ๆ ว่าไม่มีขี้ไก่ออกมาด้วย
2. เมื่อได้น้ำเชื้อมาแล้วให้ทำให้เจือจางด้วยน้ำกลั่นที่ละลายเกลือแกงบริสุทธิ์ความเข้มของเกลือ เท่ากับ 0.75% จำนวน 2-3 เท่าของน้ำเชื้อ ใช้ปลายไซริ้งค์ที่ใช้ฉีดน้ำเชื้อคนให้เข้ากันแล้วจึงนำไปฉีดเข้าที่ปากทางเข้าท่อนำไข่ของไก่ตัวเมีย ตัวละ 0.01-0.02 ซีซี หรือน้ำเชื้อขนาด 1 ซีซี ฉีดได้ 50-100 ตัว
สำหรับสารละลายน้ำเชื้อถ้าไม่ผสมเองก็สามารถซื้อน้ำเหลือจากโรงพยาบาลสำหรับคนป่วยที่มีความเข้มข้นของเกลือ 0.9% แทนก็ได้ ราคาก็ไม่แพงอีกทั้งยังหาซื้อง่าย การฉีดน้ำเชื้อเข้าตัวเมียจะต้องใช้คน 2 คนขึ้นไป ถ้าหากไก่มีจำนวนมากก็จะใช้คนหนึ่งเป็นคนฉีดและอีกคนเป็นคนเปิดก้นไก่ตัวเมีย การเปิดก้นไก่ตัวเมียก็เพื่อให้ปากทางเข้าท่อนำไข่ให้ปฏิบัติได้โดยตรงภายในกรงไก่ ไม่จำเป็นต้องอุ้มแม่ไก่ออกมาข้างนอกกรงแต่อย่างใด วิธีการก็โดยการเปิดกรงจับแม่ไก่ออกมาทางด้านกรงตับ แล้วใช้มือซ้ายกดกลางหลังแม่ไก่พร้อมกับใช้นิ้วมือกดกระตุ้นบริเวณหลังที่มีกดอยู่ แม่ไก่จะหมอบลงพร้อมกับกางปีกและกระดกหางขึ้น พร้อมกันนี้ให้ใช้มือขวาสอดเข้าไปในกรงด้านข้างจับที่ก้นแม่ไก่ใต้ทวารแล้วกดท้องดันไปทางด้านหน้าเลื่อนมือซ้ายลงมาช่วยมือขวา คือใช้ซ้ายเปิดหางแม่ไก่ให้กระดกขึ้นมาพอมองเห็นทวารหนัก และปากท่อนำไข่ที่แม่ไก่จะดันปากท่อนำไข่โผล่ออกมาให้เห็นอยู่ด้านซ้ายของทวารหนัก ที่ปากท่อนี้เป็นที่สอดไซริ้งค์เข้าไปประมาณ 1-2 นิ้ว ในแนวตรงขนานกับลำตัวแล้วฉีดน้ำเชื้อเข้าไป
ซึงการผสมพันธุ์ไก่นี้ผู้เลี้ยงสามารถทำได้หลายวิธี กล่าวคือให้ไก่ฟักไข่และเลี้ยงลูกเอง โดยไม่มีการควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมซึ่งเป็นการผสมเพื่อทวีจำนวนออกไป ส่วนผู้เพาะพันธุ์ที่ใช้พันธุ์แท้บริสุทธิ์นั้นหมายถึง การสร้างหรือสืบทอดพันธุ์หนึ่งต่อไป ส่วนผู้เพาะพันธุ์ผู้ใช้พันธุ์แท้บริสุทธิ์ จะหมายถึงการสร้างหรือการสืบทอดพันธุ์หนึ่งต่อไป หรือคงลักษณะพันธุกรรมทางสายเลือดไว้นั่นเอง การใช้เครื่องฟักสำหรับไข่จำนวนมากก็สามารถจำแนกความแตกต่างนี้ได้เช่นกัน
ก่อนที่จะเริ่มการผสมพันธุ์ไก่ควรพิจารณาเรื่องเนื้อที่ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับแม่และลูกไก่ ทั้งแม่และลูกไก่จะต้องนำแยกออกไปจากตัวอื่น ๆ ในฝูง หากไม่มีพื้นที่สำหรับตัวใหม่ที่จะมาเพิ่มและอยากหาประสบการณ์ในการผสมพันธุ์จะต้องวางแผนรองรับไก่ที่มีอายุ 10-16 สัปดาห์ซึ่งจะกลายเป็นไก่รุ่นต่อไป นอกจากนั้นต้องมีการเตรียมเลี้ยงไก่ให้สมบูรณ์เสมอเพื่อให้ได้ไก่ที่มีคุณภาพต่อไป หากรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหามากเกินไปก็ปล่อยให้แม่ไก่ที่พร้อมฟักไข่นั่งฟักของมันไปในรังว่างเปล่าสักประมาณ 3 สัปดาห์ก็ได้ จากนั้นก็นำรังออกไปเสียในช่วงนี้แม่ไก่ก็อาจร้องเจี๊ยวจ๊าวสัก 2-3 วัน จากนั้นก็จะกลับสู่ภาวะปกติตามเดิม ทางเลือกทางหนึ่งคือ ปล่อยให้แม่ไก่นั่งฟักไข่ไปประมาณ 3-4 วันเสร็จแล้วก็นำรังไก่ออกไปเสียและนำไก่ไปเลี้ยงในอีกที่แห่งหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยทำให้แม่ไก่เปลี่ยนใจหรือตัดใจได้
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ไก่แจ้เพื่อการผสมพันธุ์ไก่แจ้สายพันธุ์แท้
การผสมพันธุ์นั้นผู้ที่จะทำการผสมพันธุ์ต้องทำการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี และมีมาตรฐาน มาตรฐานที่ว่านั้นก็คือ เรื่องของสี ขนาด ฯลฯ ของไก่แจ้ในแต่ละชนิด ซึ่งในประเทศนั้นก็มีมาตรฐานของประเทศนั้น ๆ อยู่แล้ว และเมื่อทำความเข้าใจดีแล้วกับเลือกของการคัดเลือกสายพันธุ์แท้นั้นก็จึงเริ่มทำการผสมพันธุ์ และควรจัดกลุ่มไก่แจ้ของตนให้เป็นไปตามแต่ละสายพันธุ์ ขนาดรูปร่าง ฝูง ความสามารถในการออกไข่ และอุปนิสัยของไก่ให้ตรงตามมาตรฐานด้วย
ซึ่งการที่จะเสาะแสวงหาไก่แจ้ให้ได้มาตรฐานนั้นหากเป็นสมาชิกสมาคมหรือชมรมหรือกลุ่มที่เลี้ยงไก่แจ้แล้วนั้นก็จะค่อนข้างง่ายที่จะแสวงหาพันธุ์ที่มีคุณภาพและแน่นอน เพราะทั้งสมาคม ชมรม และกลุ่มคนที่เลี้ยงไก่แจ้สวยงามนี้จะมีการให้ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์การติดต่อ พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงและการประกวดไก่แจ้สวยงามได้เป็นอย่างดี จึงเป็นการช่วยเหลือในการตัดสินใจที่จะเลือกซื้อไก่แจ้คุณภาพและสายพันธุ์แท้ได้ และยังลดความเสี่ยงต่าง ๆ ได้อีกด้วย
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่าการผสมพันธุ์ไก่แจ้พันธุ์แท้นี้จะสามารถทำให้ร่ำรวยได้ในเพียงไม่กี่เดือน เพราะจะต้องมีการจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย ที่อยู่ การซื้ออาหารและเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ นอกจากนี้ยังจะต้องซื้อสายพันธุ์(สายเลือด) ใหม่ ๆ อยู่เสมอในการนำเข้ามาผสมพันธุ์กับไก่ภายในฟาร์ม เพื่อป้องกันการเลือดชิด เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาจากฟาร์มอื่น ๆ บ้าง และการซื้อไก่แจ้สายพันธุ์แท้นี้จำเป็นต้องมีการใช้เงินทุนค่อนข้างเยอะพอสมควร
ส่วนรางวัลจากการประกวดนั้น ใช่ว่าจะหวังได้กันบ่อย ๆ ก็หาไม่แต่ก็ว่าจะไม่ได้รางวัลจากการประกวดเอาเสียเลย สิ่งสำคัญคือต้องสั่งสมประสบการณ์ให้มากหากเป็นมือใหม่ อย่างน้อยก็ควรศึกษาเรียนรู้จากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในการประกวดเอาไว้ให้มาก ในการประกวดก็มีขั้นตอนและกระบวนการหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ค่าเข้าประกวด การจองที่ไว้ล่วงหน้า การสำรองที่พัก ค่าเดินทางต่าง ๆ หากสามารถนำไก่ไปเองและดูแลไก่ได้ระหว่างก่อนประกวด และช่วงเวลาประกวดด้วยตนเองไก่ก็จะไม่เครียด และหลังประกวดก็ต้องกักบริเวณไก่ไว้ 2-3 วัน เพื่อป้องกันการเป็นพาหะของโรคหวัดและโรคอื่น ๆ มาแพร่ในฟาร์มของตน
ไข่ฟองแรกและความสามารถในการให้ผลผลิต
ไก่ตัวเมียจะเริ่มออกไข่เมื่ออายุได้ประมาณ 5-6 เดือนโดยขึ้นอยู่กับไก่ในแต่ละสายพันธุ์ แม่ไก่ส่วนใหญ่จะออกไข่ต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอกันไปประมาณ 4-6 ปี จากนั้นผลผลิตก็จะน้อยลง แต่ก็มีแม่ไก่ที่แข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่สุภาพดีแม้อายุมากแล้วก็ยังสามารถให้ไข่ที่ดกและสามารถและสามารถเลี้ยงลูกไก่ได้ดี แต่อย่างไรก็ตามเมื่อแม่ไก่อายุได้ 7 ปี ก็ควรปลดระวางเสีย
ไข่ฟองแรกปกติจะมีเปลือกที่บางกว่ารุ่นหลัง ๆ แต่ขนาดจะเป็นขนาดธรรมดาทั่วไป หรือบางครั้งอาจพบแต่เพียงเศษไข่ เพราะไก่จะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่พอใจก็เลยจิกกินเสียหมดก่อนที่จะเข้าไปเห็น ดังนั้นควรรีบสร้างรังออกไข่ให้ไก่ด้วยหญ้าหรือฟางแห้ง มาสับปูรองรังก็ได้พร้อมกันในช่วงนี้ก็ต้องมีการให้อาหารเสริม เช่น แคลเซียมและแร่ธาตุเข้าไปทุกวันเพื่อให้ไข่ไก่มีเปลือกที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้น และรุ่นต่อไปจะได้เปลือกไข่ที่ไม่แตก
ส่วนขีดความสามารถในการออกไข่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ หลายประการ เช่นสายพันธุ์ที่พ่อแม่ไก่ โรงเรือน อาหาร การเลี้ยงดู ฤดูและสุขภาพของแม่ไก่และในฤดูฟักไข่และผลัดขนนั้นก็มักจะไข่น้อยลง หรืออาจเกิดจากสิ่งแวดล้องรอบตัว ความเครียดก็ส่งผลให้แม่ไก่นั้นไข่น้อยลงจากเดิมได้เช่นกัน หรือบางครั้งอาจหยุดไข่ไปเลยก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะตัวแม่ไก่เองต้องปรับตัวของไก่เองด้วย
การทับและการฟักไข่
เดือนที่ไก่มีความพร้อมมากที่สุดในการฟักไข่คือ เดือน เมษายน-พฤษภาคม ฤดูฝนนี้จะสามารถสร้างหรือเร้าอารมณ์ของไก่ให้เกิดขึ้นได้โดยการควบคุมอุณภูมิไว้ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์ (15 องศาเซลเซียส) และยืดเวลาเปิดไปเป็น 14 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนอื่น ๆ ยังคงเหมือนเดิม คือแม่ไก่จะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ในการปรับตัวให้อยู่ในสภาพที่จะออกไข่ได้ในปริมาณสูงสุด ขณะที่พ่อไก่จำเป็นต้องใช้เวลากว่า 5 สัปดาห์เพื่อให้เกิดความต้องการและสืบพันธุ์ได้สำเร็จ ผู้ที่ริเริ่มใหม่ ๆ นั้นควรจะทำการผสมพันธุ์ไก่ในฤดูหนาว ส่วนการวางไข่จะเริ่มตามธรรมชาติในเดือนกุมภาพันธ์และไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว จะมีในเดือนเมษายน
การผสมพันธุ์และการผสมเชื้อ
ไก่ตัวผู้นั้นไม่มีอวัยวะสืบพันธุ์ สเปิร์มจะไปสู่ไก่ตัวเมียโดยบริเวณช่องที่เปิดก้นของมัน จะยื่นสวมเข้าไปที่ก้นของตัวเมียจากตกไข่ จนถึงการออกไข่จะใช้เวลาประมาณ 28 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้การผสมเชื้อจะเริ่มตั้งแต่ระยะแรกของกระบวนการ คุณจึงต้องรอไข่ที่ได้รับการผสมเชื้อแล้วไปอีกประมาณ สองวัน เซลล์สเปิร์มที่ยังไม่ได้ใช้จะยังคงแข็งแรง และใช้ไปได้ประมาณ 10 วัน จึงอาจจะใช้กับไข่ฟองต่อ ๆ ไปได้ ในระหว่างนี้ไก่ตัวผู้จะทำการผสมพันธุ์ได้ประมาณ 6 ปี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะทำการผสมเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น ถ้ามันไม่ชอบไก่ตัวเมียมันจะไม่ยอมทับ ถ้าคุณมีแม่ไก่ 2-3 ตัวต่อตัวผู้ตัวเดียว ผลการผสมเชื้อจะด้อยลงไป
ความพร้อมในการฟักไข่
ไก่บางพันธุ์ลืมวิธีการฟักไข่ไปเนื่องจากมีการผสมเทียมเป็นเวลานาน สำหรับไก่ที่มีการเติบโตตามธรรมชาตินั้น แม่ไก่จะพร้อมฟักไข่ หลังจากออกไข่แล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง ควรระลึกไว้ว่าไข่มีไว้สำหรับสืบสายพันธุ์ ไม่ใช่นำมาขึ้นโต๊ะอาหาร
การสังเกตุแม่ไก่ที่พร้อมจะทำการฟักไข่มีการสังเกตุได้คือ หากพร้อมจะฟักไข่แล้วนั้นแม่ไก่จะมีการเปลี่ยนเสียงจากการ “คุย” มาเป็นเสียง กุ๊ก ๆ ซึ่งเป็นการเตรียมเสียงสำหรับเรียกลูกของมันในระยะเวลาต่อมา แม่ไก่จะร้องกระต๊ากด้วยความโกรธ หากตัวผู้ไม่ยอมเอาใจใส่ต่ออารมณ์ฟักของมัน และมายุ่งหรือมาเรียกร้องความสนใจจากมันแม้แต่คนเลี้ยงที่มันโปรดปรานก็อาจถูกจิกได้ จากการที่เข้าไปดูตัวที่นำมาฟักใหม่ ๆ เวลาและความสัมพันธุ์ที่ยาวนานนั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยได้
การยอมหรือไม่ยอมกกลูก
แม่ไก่นั้นจะยอมให้มันทำตามอำเภอใจไม่ได้ สาเหตุของการที่แม่ไก่ไม่ยอมกกลูกไก่มีหลายประการด้วยเช่นกันคือ ไก่ไม่มีเพื่อน ไก่อาจรู้สึกต้องฟักไข่ในเวลาที่ไม่พึงปรารถนา ไม่ว่าเราจะวางแผนไว้หรือมีภูมิอากาศเป็นอย่างไรบ้าง บางครั้งก็เริ่มเสียจนช้าเกินไป ถ้าการกกฟักเลื่อนมาจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม คุณต้องจัดการดูแลอย่างดีเพื่อให้ได้ไก่ที่แข็งแรงในฤดูหนาวที่จะตามมา และให้รุ่นลูกออกไข่ในฤดูถัดไป การกกให้เร็วขึ้นจะเป็นการดีกว่าเพราะไก่จะได้มีเวลากินผักสด ๆ ได้แสงแดด ความอบอุ่น แสงสว่าง และสามารถมีเวลามาเดินคุ้ยเขี่ยภายนอกนานเท่าที่จะทำได้
ไก่บางพันธุ์ก็มีข้อยกเว้น เพราะต้องการเวลาในการพัฒนาเป็นไก่โตกว่าปกติ แม่ไก่เหล่านี้จะเริ่มร้องกุ๊ก ๆ และกกลูกในต้นเดือนมกราคม ไก่พันธุ์ที่เลี้ยงยากดังกล่าวไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงสำหรับผู้ที่ริ่เริ่มใหม่ ๆ ลูกไก่นั้นจะหางานมาให้มากทีเดียว ถึงแม้ว่าแม่ไก่นั้นจะมีประสบการณ์มากเพียงใดก็ตาม ยิ่งคุณมีเนื้อที่น้อยเพียงใดก็ยิ่งมีงานมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะแม่กับลูกไก่ต้องจับแยกจากไก่ตัวอื่น ๆ ด้วย และยังต้องใช้เล้าแยกต่างหากอีก ในระหว่างสัปดาห์แรกคุณจำเป็นต้องให้อาหารไก่ทุก ๆ สองชั่วโมง และต่อๆ ไปเป็น ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง การทำความสะอาดประจำวันก็ต้องทำสม่ำเสมอ และถ้าอากาศอำนวยก็ต้องพาแม่ไก่และลูกไก่ออกมาภายนอก และต้องรีบพากลับเข้าไปเมื่ออากาศเย็น หรือลมพัดแรง และก็ต้องมีการนำออกมาทุก ๆวัน วันละ 3 ครั้ง เพื่อให้ขับถ่าย คลุกดิน และพักจากการดูแลลูก ๆ ของมันเอง
การฟักไข่แบบวิทยาศาสตร์
วิธีนี้อาจไม่มีความจำเป็นหากมีความต้องการลูกไก่เพียงไม่กี่ตัว เครื่องฟักขนาดเล็กสามารถใช้ได้เทียบเท่ากันกับขนาดใหญ่ เครื่องดังกล่าวจะประกอบด้วย แผ่นจ่ายความร้อน ดวงโคมอินฟาเรด และอุปกรณ์อุ่นน้ำในที่ให้น้ำลูกไก่ และควรหาความรู้จากผู้มีประสบการณ์ในการผสมพันธุ์ไก่ก่อนที่จะทำการซื้อ อยากแนะนำให้ผู้ที่ริเริ่มทำการผสมพันธุ์ด้วยตัวเองก่อนที่จะใช้วิธีแบบวิทยาศาสตร์
ไข่มีเชื้อ
คุณจะเริ่มเก็บไข่ได้เมื่อได้เห็นพฤติกรรมการสืบพันธุ์ของตัวผู้ กำหนดเวลาดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับสภาพแสงสว่างและอุณภูมิ ในช่วงที่มีลมหนาวพัดยาวนานเป็นพิเศษ คุณอาจจะต้องทำการรอนานออกไปอีกหากไม่ได้ทำการเตรียมเล้าเอาไว้ให้พร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ดังกล่าว าไข่ส่วนใหญ่จะออกในเวลาเช้า ๆ และควรเก็บทันทีที่ออก ในการณ์นี้แม่ไก่จะเป็นผู้แจ้งให้ทราบเองโดยไม่ผิดพลาด ทั้งนี้จำเป็นต้องนำไข่ไปชั่งน้ำหนักเพื่อให้ทราบว่าได้ไข่ออกมามีน้ำหนักเหมาะสมกับสายพันธุ์ของมันหรือไม่
ถ้าน้ำหนักเหมาะสมที่จะฟักได้ก็ให้ทำการจดน้ำหนัก และวันที่เอาไว้ พร้อมชื่อแม่ไก่ด้วยโดยใช้ดินสอจดลงบนเปลือกไข่ หากใช้หมึกอาจซึมลงที่ผิวไข่และอาจทำให้เป็นอันตรายต่อภายในไข่ได้ ในระหว่างการฟักรอยดินสอจะจางลงไป แต่เมื่อลูกไก่ฟักออกมาแล้วก็จะยังสามารถอ่านออกได้ ไข่ที่มีน้ำหนักเบาและผิดรูปทุกฟองควรขจัดออกเสีย เพราะไข่เหล่านี้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ หรือลูกไก่อาจจะไม่รอด นอกจากนี้ไม่ควรนำไข่ที่สกปรกไปไว้ที่เล้าที่มีความสะอาด หรือนำไปให้แม่ไก่ที่มีความแข็งแรงในการฟัก เพราะอาจทำให้เชื้อโรคที่อาศัยอยู่กับความสกปรกเจาะเข้าไปในเนื้อไข่ได้ นำไข่ไปวางใต้ท้องแม่ไก่ให้มากที่สุดเท่าที่มันจะนั่งฟักได้ทั้งหมด โดยอาจจะเป็นจำนวน 8-12 ฟอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดแม่ไก่แต่ละพันธุ์ ถ้าไข่นั้นเป็นไข่ที่มีเชื้อทุกฟองก็คาดว่าอัตราการฟักเป็นตัวโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 75 ถึง 100
การเก็บรักษาไข่
ไข่ที่จะนำไปฟักนั้นควรเก็บหรือวางในแนวนอนหรือเอียงไปมุมใดมุมหนึ่งในด้านป้าน หงายขึ้นและรักษาอุณภูมิให้อยู่ที่ประมาณ 8-14 องศาเซลเซียส ถ้าเป็นไปได้ควรเก็บในตู้เย็น ควรหมั่นตรวจตราอุณภูมิทุกวันเพราะบลาสโตเดิร์ม อาจถูกทำลายได้ที่อุณภูมิตั้งแต่ 5 องศาเซลเซียส ลงไป อุณภูมิที่ถูกเกินไปก็ไม่ดีเช่นกัน ไข่ที่มีการเก็บไว้ในอุณภูมิที่เหมาะสมก็จะรักษาความสดได้เช่นกันและเก็บได้นาน 14 วัน เป็นที่ยอมรับกันว่าไข่ยิ่งสดก็ถือว่ายิ่งดี เนื่องจากในระหว่างการเก็บนั้นไข่จะสูญเสียความชื้น ไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ และปริมาณความชื้นที่สูญเสียไปนั้นจะเท่ากับการสูญเสียอาหารสำหรับตัวอ่อน ที่กำลังเติบโตโดยตรง
ในการรักษาสโตเดิร์ม (ฐานเชื้อลูกไก่ที่เป็นต้นกำเนิดชีวิตลูกไก่) ให้อยู่ในสภาพใช้ได้นั้น จะต้องกลับไข่ตามแนวนอนทุกวัน ระวังห้ามกลับไข่ในแนวตั้งอย่างเด็ดขาดไข่ที่เก็บไว้นานเกินกว่าที่จะนำไปฟัก อาจจะนำไปบริโภค หรืออาจนำไปให้แม่ไก่ที่อยากฟักไข่ลองนั่งดูก็ได้ เราอาจประมาณได้ว่าไข่ไก่ฟองหนึ่ง ๆ นั้นมีส่วนที่เป็นไข่ขาว 6 ส่วน ไข่แดง 3 ส่วนและเปลือกอีก 1 ส่วน
ไข่มีเชื้อและไข่ไม่มีเชื้อ
เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าไข่ฟองใดทำการปฏิสนธิแล้วหรือยัง จนกระทั่งจะมีการฟักออกมาเป็นตัวเท่านั้น หากคุณซื้อกล่องสำหรับส่องดูไข่มาใช้ก็จะสามารถแยกได้ว่าไข่ฟองไหนเป็นไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว โดยเริ่มดูจากวัน หนึ่ง สาม หก เจ็ด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเครื่องมือดังกล่าว สำหรับไข่สีน้ำตาลจำเป็นต้องใช้เวลานานกว่านี้จึงจะเห็นตัวอ่อน และควรดูให้ดีว่ามีการใช้โดยปฏิบัติตามวิธีถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ด้วย
หลังจากสามวันผ่านไป คุณจะเห็นบลาสโตเดิร์ม หรือบลูม ได้อย่างชัดเจนโดยทำการยกส่งผ่านแสงเทียนในแนวนอน ไข่ที่สมบูรณ์จะเห็นบลูมอยู่ด้านบนขณะที่คุณค่อย ๆ หมุนฟองไข่ตามแนวนอน และควรจำไว้ว่าเราไม่ควรหมุนไข่ในแนวตั้ง และไข่ที่มีเชื้อหรือที่เรียกว่าไข่ลมควรนำออกไป เมื่อถึงเวลาส่องดูครั้งที่สอง หรืออายุได้ 18 วัน ตัวอ่อนจะอยู่กับที่ทำให้เรารู้จำนวนของไข่เสีย และนำออกจากรังหรือเครื่องฟักได้ สำหรับการตรวจตรานี้ให้ทำตอนที่แม่ไก่ออกไปข้างนอกเพื่อป้องกันไม่ให้แม่ไก่เกิดความเครียด
ตัวอ่อน
เมื่อไข่ถูกปฏิสนธิแล้วจะอยู่ในช่วงการพัฒนาการต่อไป และเมื่ออุณภูมิสูงขึ้นตัวอ่อนก็จะเริ่มเติบโต ถ้าจะให้ดีที่สุดแล้วอุณภูมิในระยะเป็นตัวนี้ควรจะอยู่ที่ ราว ๆ 38 องศาเซลเซียส และมีความชื้นประมาณ 60 เปอร์เซนต์ อุณภูมิที่ต้องการนี้จะต่างกันไปตามสภาพของไข่แต่ละฟอง และตามชนิดของอุปกรณ์ เช่นเครื่องฟักอาจจะเป็นแบบที่อากาศภายในนิ่ง หรือแบบดูดลมเข้า
หลังจากเริ่มเป็นตัวเพียง 24 ชั่วโมงตัวอ่อนก็จะมีหัว ลูกนัยน์ตา และเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง จากนั้น 3 วันจะมีเส้นเลือด หัวใจเริ่มเต้น ต่อมาก็จะมีปอด ตับ น้ำดี และเมื่อถึงปลายสัปดาห์จะมีผิวหนังขนและจงอยปาก หลอดเลือดจะเป็นเส้นทางลำเลียงอาหารจากไข่แดงไปสู่ตัวอ่อน ของเสียที่ไม่ใช้แล้วจะถูกกำจัดเข้าสู่ถุงปัสสาวะซึ่งอยู่ใกล้กับสายสะดือ เปลือกไข่จะให้เกลือแคลเซี่ยมที่จำเป็นสำหรับตัวอ่อน และจะมีรูพรุนสำหรับแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซต์
ส่วนที่เป็นตัวอ่อนทั้งหมดจะแขวนลอยอยู่ในถุงของเหลว และการเจริญเติบโตทั้งหมดจะเกิดขึ้นที่นี่ ก่อนที่ลูกไก่จะฟักออกจากไข่เล็กน้อยนั้นช่องอากาศจะขยายใหญ่ขึ้น ขณะที่ไข่แดงซึ่งค่อย ๆ หดหายไปจะกลายเป็นช่องสำหรับตัวลูกไก่ และจะเป็นอาหารสำหรับลูกไก่ใน 24 ชั่วโมงที่ฟักออกมาจากไข่
การดูแลก่อนและในระหว่างการฟักไข่
ในการฟักไข่อย่างต่อเนื่องและสงบนั้นแม่ไก่ต้องไม่มีปรสิตโดยเด็ดขาด ควรสำรวจตรวจดูแม่ไก่ให้ดีก่อนทำการฟักเพราะหากมีปรสิตจะทำให้แม่ไก่อ่อนแอและไม่มีความสามารถในการให้ความอบอุ่นแก่ไข่ได้ ไรและหมัดก็เช่นกัน ควรตรวจดูให้รอบคอบ หากมีการตรวจดูช่วงกลางคืน อาจใช้ไฟส่องดูบริเวณก้นของแม่ไก่เพราะตัวไรมักจะชอบดูดเลือดบริเวณก้นของมัน และเมื่อพบควรหายาที่เหมาะสมมาใช้ทันทีหรือปรึกษาสัตวแพทย์ ก่อนที่ฤดูไข่จะเริ่มควรนำขี้ไก่ไปตรวจเสียก่อน
รังแม่ไก่ที่กำลังฟักไข่
ถ้ารังฟักไข่เป็นรังเดียวกับที่แม่ไก่ใช้ออกไข่ ควรทำความสะอาด ก่อนปูวัสดุลงไปได้แก่ขี้กบ ในชั้นแรกและเศษฟางหั่นอีกหนึ่งชั้น กรณีที่มีเล้าใหญ่อาจนำเอารับฟักไข่ไปวางในมุมเงียบ ๆ สักแห่ง และถ้าไม่มีแม่ไก่ที่จะฟักไข่มากกว่าหนึ่งตัวขึ้นไป ควรสร้างรังที่เคลื่อนย้ายได้อีกรังหนึ่งและแยกแม่ไก่ออกจากกัน
เมื่อนำไข่ที่ใช้ลองฟักออกไปแล้ว ควรนำไข่ที่เลือกเฟ้นที่จะฟักจริงมาอุ่นให้เท่ากับอุณภูมิร่างกายของคนเราก่อนนำไปวางในรัง ในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ เวลาบ่ายแก่ ๆ ขณะที่แม่ไก่กำลังหลับอยู่นั้นให้เคลื่อนไหวตัวช้า ๆ และพูดคุยปลอบมันเบา ๆ
การดูแลแม่ไก่
อาหารของแม่ไก่ต้องมีการผสมเมล็ดข้าวต่าง ๆ ให้มาก และควรเริ่มประมาณเดือน พฤศจิกายนจะดีที่สุด นอกจากนั้นยังต้องการแคลเซียม แร่ธาตุ กรวดและทรายเม็ดใหญ่ ๆ ด้วย
เมื่อแม่ไก่เริ่มฟัก ควรงดอาหารประเภทผักสด เนื้อ และอาหารนิ่มเพื่อป้องกันไม่ให้แม่ไก่ถ่ายเหลว และทำเปรอะเปื้อนรังและสะสมเชื้อโรคทำให้เกิดการติดเชื้อสู่ตัวอ่อนได้ รางอาหาร รางน้ำ ต้องทำความสะอาดวันละ 1 ครั้ง หรือสองครั้งเช้าและเที่ยง ในการนำแม่ไก่ไปข้างนอกเพื่อให้อาหาร ขับถ่ายหรือพักผ่อน คลุกดินทรายนั้นให้จับแม่ไก่ด้วยมือทั้งสองข้างอย่างนุ่มนวล โดยใช้มืออีกข้างหนึ่งรองหน้าอก ส่วนอีกมือหนึ่งวางลงไปบนหลังของมัน หากแม่ไก่มีมูลไก่ก้อนโต ถือได้ว่าระยะนี้แม่ไก่สุขภาพดี และอาจแสดงท่าทางวิ่งไปมา หัวขนฟู หรือทำปีกให้ชุ่มเพื่อให้ร่างกายกลับสู่สภาพที่ดี
การลอยไข่ที่มีตัวอ่อนในน้ำ
ความชื้นในไข่ส่วนใหญ่จะใช้หมดไปในการฟัก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้การฟักไข่เป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งนี้เพื่อป้องกันสิ่งที่กล่าวมาอาจเกิดขึ้น ควรนำไข่ไปลอยน้ำเมื่อมีอายุได้ 19 วัน ดังนี้ เทน้ำที่อุณภูมิ 37 องศาเซลเซียส ลงในอ่างน้ำ การทำเช่นนี้จำเป็นต้องวัดอุณภูมิด้วยเทอร์โมมิเตอร์เพื่อให้ได้อุณภูมิที่แน่นอนก่อนวางไข่ลงในน้ำอย่างเบามือและทำการลอยไข่ไว้เป็นเวลาหนึ่งนาที แล้วนำไข่กลับไว้ในรังฟัก ไม่ควรใช้น้ำฉีดไข่แทนเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโตและทำให้ตัวอ่อนตายได้
แม่ไก่ขณะฟักไข่
พัฒนาการของตัวอ่อนใช้เวลา 3 สัปดาห์ ภาพแม่ไก่ที่นั่งกกไข่อย่างสุขสบายอาจเป็นภาพน่าดู ซึ่งช่วงนี้เองเป็นช่วงที่แม่ไก่ต้องใช้พลังงานอย่างมากในการให้ความอบอุ่นแก่ลูกขณะกกไข่ และไม่มีเวลาในการกินน้ำ กินผัก และอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองน้ำหนังแม่ไก่จะลดลง สีขนหมอง ส่วนที่ห้อยตามใบหน้าจะซีด แสดงถึงร่างกายที่ถูกใช้ไปอย่างหนัก ระหว่างนี้แม่ไก่จะหมุนพลิกไข่อย่างสม่ำเสมอ และจะเปลี่ยนที่ฟักบ่อย ๆ ในวันแรก ๆ แม่ไก่จะขยับไข่วันละ 2-3 ครั้งต่อชั่วโมง เพื่อทำให้ไข่ได้รับความอบอุ่นทั่วทั้งฟอง ซึ่งเป็นที่รูกันว่าอุณภูมิด้านบนและด้านล่างของไข่จะแตกต่างกันประมาณ 2 องศาเซลเซียส ด้วยการหมุนพลิกไข่นี้เองจะทำให้แม่ไก่ขยับตัวเพื่อหาจุดที่อุ่นที่สุด จะสังเกตุขนที่หน้าอกของแม่ไก่ได้ว่าจะร่วงเป็นกระจุก และบริเวณนี้แหละคือบริเวณที่อบอุ่นที่สุดสำหรับไข่
การฟักตัวออกจากไข่
ลูกไก่จะฟักออกจากเปลือกไข่ด้วยวิธีการใช้ปากที่เป็นจงอยแข็ง ๆ เล็ก ๆ เจาะผ่านเยื่อออกมาสู่ช่องอากาศในไข่ ในวันที่อายุครบ 20 วัน และเริ่มหายใจได้ด้วยตนเอง เมื่อหายใจได้ มันจะเริ่มเจาะเปลือกไข่เสียงดังขึ้นแม่ไก่จะตอบรับโดยการทำเสียงกุ๊ก ๆ เบา ๆ ซึ่งฟังดูเหมือนกับไก่ที่คนทำเลียน
เสียงเจาะเปลือกไข่และเสียงแม่ไก่จะดังพอที่ผู้เลี้ยงจะได้ยินได้ นับเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นมากทีเดียว หลังจากที่เงียบไปพักใหญ่ลูกไก่จะเริ่มเจาะด้านที่ป้านเป็นด้านที่ช่องอากาศเป็นรูจากนั้นจะจิก และหมุนตัวดันโดยใช้ขาซ้ายของมันจนรูนั้นกว้างขึ้น ไข่ขาวที่เหลืออยู่จะช่วยให้ฟักตัวออกมาจากไข่นี้ง่ายขึ้นเปรียบเสมือนน้ำหล่อลื่น ก่อนที่ลูกไก่จะเริ่มเจาะเปลือกไข่นั้น มันจะรอจนกว่าถุงไข่แดงห่อม้วนเข้าไปในช่องเปิดที่ปลายสะดือเสียก่อน จากนั้นช่องเปิดดังกล่าวจะปิดไปเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการฟักออกเป็นตัว ในการเจาะเปลือกไข่นั้นลูกไก่จะจิกเป็นรูเล็ก ๆ เริ่มจากรูแรกไปจนรอบฟอง จนเปลือกไข่แยกเป็นสองส่วน หลังจากหยุดพักสักครู่แล้วมันจะค่อย ๆ กระดืบดันตัวเองโดยใช้ขาเล็ก ๆ ทั้งสองข้างออกมานั่งจ่อมด้วยขนที่เปียกปอน ความอบอุ่นจากตัวแม่ไก่ช่วยให้มันฟื้นตัวเร็วและทำให้ขนแห้งไปในที่สุด และในเวลาประมาณ ครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงมันก็จะเงยหัว และเดินไปได้เพียงแค่ 2-3 ก้าวในระยะนี้ลูกไก่มักจะชอบโผล่หัวจากขนของมัน โดยแม่ไก่จะค่อย ๆ ดันมันกลับไปใต้ท้องอย่างนุ่มนวล ปกติการฟักเป็นตัวนี้จะใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง นับตั้งแต่เสียงร้องเจี๊ยบ ๆ ครั้งแรกจนออกมาเป็นตัวอย่างสมบูรณ์
คุณจำเป็นต้องช่วยเหลือหรือไม่
ปกติแล้วปัญหานี้มักไม่ค่อยเกิดขึ้นเพราะแม่ไก่จะเป็นผู้ดูแลทุกสิ่งอย่างเอง คนเลี้ยงเพียงแค่นำเศษเปลือกไข่ออกไปเท่านั้น เพื่อไม่ให้ลูกไก่เกิดการบาดเจ็บ แต่หากลูกไก่ฟักออกมาเองไม่ได้ล่ะก็ ปัญหาเกี่ยวกับการช่วยเหลือจะเกิดขึ้น นักผสมพันธุ์จะมีความคิดว่าลูกไก่ที่ไม่สามารถฟักตัวออกมาได้เองจะอ่อนแอเกินกว่าที่จะทำการเลี้ยงให้เติบโตต่อไป และลูกไก่เหล่านี้จะถูกปล่อยให้ตาย แต่เราอาจไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นก็ได้ เช่น ลูกไก่ตัวหนึ่งอายุได้ 6 สัปดาห์และเมื่อมันออกมาก่อนหน้านี้ก็มีลักษณะที่เหมือนกันกับตัวอื่นๆ ทุกประการ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มันกลับต้องการความช่วยเหลือแม้แต่ในเวลาที่จะฟักออกมาโดยสังเกตุได้จากการส่องไฟว่าขณะที่เป็นตัวอ่อนอยู่นั้นขนาดของมันเล็กกว่าตัวอ่อนของไข่ฟองอื่น ๆ เมื่อถึงเวลาฟักออกจากเปลือกมันเริ่มเจาะครั้งหนึ่งแล้วเงียบเสียงไปถึง 12 ชั่วโมง จึงลงมือกระเทาะเปลือกออกเล็กน้อย แต่ก็ต้องหยุดทันทีที่เห็นเลือดหยดหนึ่ง จึงรู้ว่าไปช่วยมันก่อนเวลาอันควร แต่แล้วหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ยินเสียงร้องจิ๊บ ๆ อย่างมีชีวิตชีวา และเห็นมันเคลื่อนไหวขยับตัวอย่างแข็งขันขึ้น และจึงได้นำตัวมันออกจากเปลือก หยดเลือดเล็ก ๆ ที่สายสะดือนี้คือ ถุงไข่เพิ่งจะห่อตัวเมื่อไม่นานมานี้เอง จับมันห่อไว้ในผ้าขนหนู สะอาด บาง ๆ ผืนหนึ่ง และประคองไว้ในตัก ไม่นานขนก็แห้งเลือดเริ่มแข็งตัว จากนั้นก็ดันตัวมันซุกไปอยู่่ใต้ท้องของแม่มัน ในวันแรกตัวมันเล็กจิ๋วมาก ๆ และต้องการความอบอุ่นตลอดเวลา แต่ก็กินเก่ง ทุกครั้งที่มันวิ่งออกมาจากอกแม่ จะหมดแรงและเพลียมากอย่างรวดเร็ว สภาพดังกล่าวเป็นอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ นับว่าเป็นโชคดีที่มันรอดชีวิตและเข้ากันกับครอบครัวตัวอื่น ๆ ของมันได้ดี กิน บิน วิ่งเล่น และซุกซนเหมือนกับลูกไก่ตัวอื่น ๆ
ลูกไก่ที่กำลังโต
ในระยะแรกนี้ ลูกไก่จะต้องการความอบอุ่นอย่างมาก ในเวลา 24 ชั่วโมงแรกมันจะนอน ยกเว้นบางครั้งที่อาจร้องเจี๊ยบเจี๊ยบบ้างที่ตื่นขึ้นมา ลูกไก่จะรู้จักแม่ของมันเพียงไม่กี่ชั่วโมง และรู้จักคนเลี้ยงภายในไม่กี่วัน เมื่อแม่ไก่ออกไปกินอาหารและกินน้ำและขับถ่าย มันจะร้องดังเจี๊ยวจ๊าวระงมไปเหมือนกับเสียงร้องของผู้ถูกทอดทิ้ง แต่ทันทีที่แม่ไก่โผล่กลับมาเสียงจะเปลี่ยนเป็นเสียงเจี๊ยบจ๊าบอย่างมีความสุข
เมื่อกินโภชนาหารในไข่แดงหมดไปลูกไก่จะเริ่มหิว และต้องการอาหาร มันจะจิกเปะปะไปตามเศษฟางรองดังนั้นจึงต้องเตรียมอาหารและใส่น้ำบนแผ่น หรือฝาพลาสติกแบน ๆ ถ้าแม่ไก่ของคุณเป็นแม่ไก่ที่รู้เรื่อง มีสัญชาตญาณดี มันจะสอนลูกให้จิกกินอาหาร และใช้จงอยปากจิกอาหารชิ้นเล็ก ๆ ป้อนลูก และลูกไก่จะเรียนรู้อย่างรวดเร็ว และจะเริ่มจิกอาหารกินได้เอง
แม่ไก่บางตัวจะสอนลูกไก่ให้รู้จักวิธีกินน้ำด้วย แต่หากมันไม่รู้จักกินน้ำผู้เลี้ยงก็ต้องทำการสอนด้วยการประคองมันขึั้นมาทีละตัวและจุ่มจะงอยปากเล็กน้อยเพื่อแสดงให้เห็นว่ากินน้ำลงไปได้แล้ว แต่ละครั้งควรทิ้งช่วงให้ห่างเล็กน้อย เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนตัวน้อย ๆ เรียนรู้ได้ดีและถูกต้อง และควรแยกพวกที่กินน้ำเป็นแล้ว ไปไว้ที่กล่องกระดาษรอจนกว่าตัวอื่น ๆ จะกินน้ำเป็นเช่นกัน หลังจากนั้น 2 วันมันจะไม่ต้องการความช่วยเหลืออีก แม่ไก่ที่ไม่ประสาจะล้มเหลวในการสอนลูก แม่ไก่เหล่านี้จะจิกทรายกระจายไปทั่วรวมทั้่งอาจจิกลูกของมันเองด้วย วิธีแก้คือ พาแม่ไก่ออกไปคุ้ยเขี่ยอาหารที่ลาน และให้อาหารเจ้าตัวเล็ก ๆ ในเล้า โดยเทอาหารให้บนแผ่น หรือฝาพลาสติก ขณะเดียวกันก็เคาะนิ้วบนฝานั้นให้เหมือนเสียงจิก พยายามพูดคุยกับมันเบาๆ ไม่ช้ามันก็จะรับรู้ได้
เวลานอนลูกไก่จะน้อยลงเรื่อย ๆ เพียงแค่ 4 วันก็อาจเห็นลูกไก่ร่าเริงเคียงคู่แม่ของมัน คุ้ยเขี่ยตามฟางรองเหมือนไก่แก่ ๆ ตัวที่กล้าหน่อยจะบินกระพือไปคลอเคลียที่คอแม่ของมัน ระหว่าง 4-7 วันลูกไก่จะเริ่มไซร้ขนทำความสะอาดตัวมันเอง เริ่มเรียนรู้เรื่องการทรงตัวจะหกคะเมนกลิ้งไปมาขณะพยายามเกาหัวเล็ก ๆ ของตัวเอง และหากมีแม่คอยสอนมันก็พร้อมจะคลุกดินคลุกทราย เมื่ออายุได้เพียง 1 สัปดาห์
ปีกทั้งสองข้างเป็นส่วนที่เจริญเร็วกว่าส่วนอื่น ๆ เมื่อถึงวันที่เจ็ดขนแท้ที่ปลายปีกจะเริ่มงอกยาวขึ้นมา ในระยะนี้ลูกไก่จะฝึกบินโดยกระโดดพุ่งตัวสูงจากพื้นดินประมาณ 1 ฟุต และกลับลงสู่พื้นดินทัน และจะเริ่มติดตามแม่ ควรให้ไก่อยู่ที่ลานกลางแจ้งที่รั้วรอบขอบชิด เพื่อให้ไก่ได้รับแสงแดดและออกกำลัง และได้เรียนรู้วิธีในการจิกหาอาหารกิน ทั้งนี้ต้องไม่ลืมนำกระบะ พร้อมกับรัง และถ้วยอาหารที่ให้น้ำออกไปวางข้างนอก ในสัปดาห์ที่สามขนบริเวณหลังและใต้ปีกจะเริ่มงอก ขนหางจะดูเหมือนปุยผัดแป้ง บางตัวก็เป็นแถบบางตัวที่ชี้ออกมานั้นแม่ไก่ช่วยจิกดึงและกลืนไป ไม่นานนักลูกไก่ก็จะจิกดึงให้แก่กันได้
เมื่ออายุได้สามสัปดาห์ ลูกไก่จะรู้จักบินและจิกกินอาหารได้ด้วยตัวของไม่เองและมักไม่ค่อยชอบที่จะให้แม่ไก่มาบอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เสียงที่ใช้ในการสื่อสารก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น ทั้งเจี๊ยบ ๆ จิ๊บ ๆ ร้องแบบเจ็บปวด เสียงแหลม หรือสั่นรัวบ่งบอกได้ถึงเวลากลัวมาก ๆ หรือเสียงคุกคามอีกประเภทหนึ่งที่มีสลับกันไป และในที่สุดหงอนเล็ก ๆ ก็โผล่ขึ้นมาให้เห็น หงอนของลูกไก่ทุกตัวจะเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ เหมือนกันหมด ปลายปีกก็จะยาวไปถึงปลายทาง ความอยากและความสามารถในการบินมีมากขึ้นโดยสังเกตุจากการกระโดดพุ่งตัวไปข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตามลูกไก่ก็ยังคงที่จะคุ้ยเขี่ยหาอาหารในบริเวณที่ใกล้กับตัวของแม่ หากแม่มีเหตุต้องเดินหนีไปไหน ก็จะร้องเรียกเสียงหลง เพราะความวิตกกังวลที่แม่ไม่อยู่ดูแล บางครั้งลูกไก่ก็เจออาหารแสนอร่อยน่าสนใจ ก็จะง่วนอยู่กับอาหารที่มันพบเจอและหากพี่น้องลูกไก่ทั้งหลายแอบมาลักกินไปมันจะไม่ร้องบ่นว่าอะไร ระหว่างสัปดาห์ที่สี่และห้า รูปร่างของมันจะเริ่มดูประหลาดตาไป ลักษณะจะคล้ายกับนกแร้งตัวเล็ก ๆ
เราสามารถแยกออกได้ว่าลูกไก่ตัวไหนที่เป็นตัวผู้ และตัวไหนที่เป็นตัวเมียเมื่ออายุของลูกไก่ผ่านสัปดาห์ที่ สี่ไปได้ประมาณ 2-3 วัน ระยะนี้ตัวผู้จะมีหงอนใหญ่ขึ้น มีสีชมพู เหนียงที่คอและแก้มเห็นเด่นชัดขึ้น ส่วนตัวเมียนั้นจะยังไม่ขึ้นและยังไม่มีสี เรื่องของไก่ที่น่าสนใจคือการที่ตัวเมียจะเป็นตัวกำหนดเพศซึ่งจะตรงกันข้ามกับมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ กล่าวคือแม่ไก่จะมีโครโมโซม 2n+xy ไก่ตัวผู้จะมีโครโมโซม xx
ในระหว่างสัปดาห์ที่ห้า และหกหงอนของลูกไก่ตัวเมียจะเป็นสีแดงเพลิงตัวผู้จะแข็งแรงสดใส และกล้ากว่าตัวเมีย การทะเลาะกันหรือจิกตีกันก็จะเกิดขึ้นเพียงไม่กิวินาที ภาพไก่รุ่น ๆ ตัวเมียพยายามเบียดซุกตัวผูั้ซึ่งโตกว่าเวลาที่แม่ไก่อยู่ ระยะนี้แม่ไก่จะยังคงดูแลปกป้องลูก และอาจค่อย ๆ ห่างมากขึ้น อาจมีบ้างในบางครั้งที่แม่ไก่จะออกไปเดินตามประสาของมันโดยปล่อยให้ลูกไก่นอนอยู่ตามลำพังในบางครั้ง ไก่รุ่นตัวผู้ และตัวเมียจะเริ่มมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าแม่อาจไม่ได้อยู่กับมันตลอดเวลา และเวลาที่มันเริ่มง่วงมันก็จะเบียดกอดกันอยู่ตามประสาพี่น้องของมัน
เมื่ออายุได้ประมาณแปดสัปดาห์ไก่รุ่นจะเริ่มมีรูปร่างซึ่งดูเสมือนกับถอดแบบมาจากพ่อแม่ของมันขนหางของตัวผู้จะขึ้นไม่สมบูรณ์แต่ก็จะเป็นรูปร่างจริงแล้ว ขนชุดแรกจะขึ้นเต็มในสัปดาห์ที่เก้า ไก่รุ่นที่ห้าวหาญจะเริ่มจิกตีกัน แบบเริ่มเอาจริงเอาจัง บางครั้งและอาจเป็นส่วนใหญ่ที่ตัวที่แข็งแรงที่สุดมักจะเป็นผู้ชนะ แต่ก็ไม่เสมอไปที่สมควรจะเป็นผู้นำของฝูง ไก่ตัวเมียจะไม่เข้ามายุ่งเรื่องนี้ เพราะบรรดาพี่ ๆ จะถือเป็นเรื่องต้องห้าม ไก่ตัวเมียจะจัดลำดับหลังจากนั้นกันเองโดยไม่เกี่ยวข้องกันกับตัวผู้ ในช่วงนี้ไก่จะเริ่มหัดขัน เสียงของมันจะเหมือนเสียงเอียดอาดของประตูฝืด ๆ มากกว่า เสียงขันอย่างผยองเหมือนไก่ตัวผู้ที่โตเต็มไว ช่วงระยะนี้ก็จะเกิดเสียงแปลกใหม่เพิ่มขึ้นอีก
แม่ไก่ส่วนใหญ่จะจากลูก ๆ ไปในประมาณสัปดาห์ที่แปด ซึ่งช่วงระยะนี้ไก่รุ่น จะอยู่สุขสบายแต่ก็ยังคงร้องเรียกแม่บ้างในบางครั้ง ขนจริงจะเริ่มงอกในช่วง 12 สัปดาห์ และจะยาวสมบูรณ์ในอีก 4 สัปดาห์ส่วนตัวเมียก็จะคุ้ยเหมือนแม่ ช่วงเวลานี้เหมาะที่จะจับประคองมันเบา ๆ และบ่อยครั้งเพื่อสร้างความไว้วางใจและความเป็นเพื่อน
ห่วงขาและการจัดกลุ่ม
การใส่ห่วงขามักจะทำเมื่อไก่พันธุ์แท้บริสุทธิ์อายุได้ 12 สัปดาห์ โดยสวมผ่านนิ้วขาด้านหน้าทั้งสามนิ้ว จากนั้นค่อย ๆ ดันเดือยขึ้นเล็กน้อยแล้วดันห่วงสวมผ่านเดือยไปที่ข้อเท้าให้แน่นพอดี ห่วงหาซื้อได้ที่สมาคมต่าง ๆ หรือร้านที่จำหน่ายอุปกรณ์สัตว์ปีกทั่วไป
นักผสมพันธุ์หลายรายจะแยกตัวผู้กับตัวเมียในช่วงอายุ 8-12 สัปดาห์ซึ่งมันจะมีประโยชน์ต่อการผสมพันธุ์ให้ได้ในปริมาณครั้งละมาก ๆ โดยเฉพาะไก่ที่เจริญวัยเร็วและเป็นการป้องกันไก่สาวด้วย แม่ไก่ของเราเริ่มวางไข่ตามเวลาที่เราคาดไว้ สำหรับผู้เลี้ยงไก่แจ้นั้นไม่จำเป็นต้องให้อาหารไก่รุ่นที่เน้นโปรตีนมากเหมือนเช่นกับนักผสมพันธุ์ไก่ตัวผู้พันธุ์โตแนะนำ