ในอดีตมีการเลี้ยงไก่แจ้มานานแล้วแต่ไม่ได้มีการสนใจในการพัฒนาสายพันธุ์อย่างจริงจัง จนเมื่อประมาณ 20-30 ปี ที่ผ่านมานี้มีผู้ให้ความสนใจพัฒนาสายพันธุ์
ไก่แจ้ให้เป็นไก่แจ้ที่มีลักษณะแบบสากลและสวยงาม จึงได้มีการสั่งซื้อไก่แจ้เข้ามาผสมพันธุ์กับพันธุ์ดั้งเดิมของไทย สายพันธุ์ที่สั่งเข้ามาเพื่อพัฒนาสายพันธุ์นั้นคือ สายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น ผู้ที่ทำการสั่งนำเข้าเข้ามามีหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น คุณชุมพล พรประภา คุณสันต์ เคียงศิริและท่านอื่น ๆ อีกหลายท่าน ด้วยการพัฒนาสายพันธุ์อย่างจริงจังนี้เองทำให้ไก่แจ้ของไทยเป็นที่่รู้จักของชาวต่างประเทศ และในยุโรปก็มีการจัดตั้งสมาคมขึ้นรวมถึงประเทศไทยด้วย ข้อดีของการมีสมาคมคือ มีส่วนร่วมกันในการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน เช่น การจัดการประกวดไก่แจ้ การพัฒนาสายพันธุ์ไก่แจ้ให้ก้าวไกลไปมากยิ่งขึ้นด้วย
ลักษณะมาตรฐานของไก่แจ้สวยงาม
เนื่องจากชาวญี่ปุ่นเป็นผู้พัฒนาสายพันธุ์ของไก่แจ้จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงได้มีการกล่าวถึงลักษณะที่ดีหรือเห็นว่าเหมาะสมไว้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2453 โดยสมาคมสัตว์ปีกของญี่ปุ่น และเมื่อประมาณ ปี 2480 ทางสมาคมอินเตอร์เนชั่นแนลเจแปนนิสคลับ ได้กำหนดมาตรฐานของไก่แจ้ขึ้นมาและให้หลักการดังกล่าวไว้ว่า ลักษณะโดยรวมทั่วไปของเพศผู้และเพศเมียนั้น ตัวต้องเล็ก แคระ และเตี้ย เวลาเดินก้าวย่าง ท่าทางต้วมเตี้ยม นุ่มนวล ลำตัวสั้นกว้าง และกลม อกใหญ่หางตั้งตรง ไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่งและมีลักษณะแผ่กว้างพอสมควรหงอนใหญ่และมีขนหนาแน่นสมบูรณ์ ลักษณะดังกล่าวถือเป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นมาตรฐานสากลมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในยุโรปและอเมริก
ลักษณะของไก่แจ้เพศผู้นั้น จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ
– หัวใหญ่ และกว้างขนาดโตได้สัดส่วน
– จงอยปากสั้น โค้งเล็กน้อย ดูแข็งแรงและมั่นคง
– หงอนใหญ่ สีแดงหนาแลดูสมกับตัว และตั้งตรง จักงอนใหญ่และลึกเรียงกันเป็นระเบียบ ผิวหงอนมีลักษณะหยาบเป็นเม็ดเล็ก ๆ คล้ายกระดาษทราย เมื่อมองผ่านด้านหน้าของหงอนต้องยื่นมาทับที่บริเวณจงอยปาก ท้ายหงอนต้องวาดโค้งไปตามกะโหลกถึงท้ายทอย จักหงอนต้องมี 4-5 จัก
– ติ่งหู มีขนาดกลาง กลมรี เป็นรูปไข่สีแดงเช่นเดียวกับหงอน
– เหนียงใหญ่ปลายกลมมีลักษณะห้อยสวยงาม ผิวของเหนียงหยาบเป็นเม็ดเล็ก ๆ เช่นเดียวกันกับหงอน
– คอสั้นและโค้งเล็กน้อย มีขนสร้อยคอหนาแน่นสวยงาม
– ลำตัวเล็ก สั้น กลม กว้างและลึก
– อกใหญ่กลมเต็มป่องไปด้านหน้า
– ปีกยาวสุดลำตัว ปลายปีกเอียง ห้อยสัมผัสพื้น ขนปีกสองชั้น
– หลังสั้น กว้างมีช่องไฟระหว่างคอ ห่างเพียงเล็กน้อย รูปหลังคล้ายกับอานม้า หลังสุดติดกับหางด้านหนึ่ง และไม่เอนหน้าจนพาดทับหัว หางชัยสัมผัสท้ายหงอนปลายแหลมเหมือนรูปดาบยาวสูงกว่าหัว และต้องมีระย้าหนาแน่น
– หางตั้งตรง ไม่เอียงข้างใด ประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวทั้งหมด หางพัดใบใหญ่เรียงแน่นเป็นระเบียบ และแผ่กว้างพอประมาณ หางข้างหางพัดมี 2 ชั้น ถึง 3 ชั้น ระหว่างหางพัดต้องมีขนปิดกันปกคลุมเป็นระเบียบ
– ขาท่อนบนหลัง หน้าแข้งสั้นประมาณ 1 องคุลี เกล็ดแข้งเรียงกันเป็นระเบียบใหญ่ แข็งแรง สะอาด และไม่มีขน
– เท้าแต่ละข้างมีนิ้ว 4 นิ้ว นิ้วสั้นกางได้รูป ข้อนิ้วแข็งแรง ขนสะอาด นุ่ม หนาแน่น ลักษณะขนเป็นเงามัน นุ่ม หนาแน่น และไม่ด้าน
– น้ำหนักตัวประมาณ 510-560 กรัม
ลักษณะมาตรฐานของไก่แจ้เพศเมีย
ลักษณะของเพศเมียนั้นมีความคล้ายคลึงกันกับเพศผู้อาจมีจุดแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย คือ
– หงอนเล็กกว่าเพศผู้ ดูสมกับเพศบางกว่า และจะมีลักษณะเอียงไปข้างหนึ่งข้างใดก็ได้
– หางตั้งตรงและไม่โน้มไปข้างหน้าจนทับหัว และต้องไม่เอียงไปข้างหนึ่งข้างใด และต้องมีลักษณะที่แผ่กว้างพอสมควร
– หัวเล็กกลม เพราะโดยทั่วไปไก่แจ้เพศเมียจะมีลักษณะตัวเล็กกว่าตัวผู้