การเลี้ยงกบ

20 สิงหาคม 2014
5836   0

กบเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ที่ปัจจุบันตลาดทั้งภายในประเทศ และ ต่างประเทศมีความต้องการเพื่อการบริโภคและเพื่อใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันปริมาณกบในธรรมชาติกลับลดน้อยลงเป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการขยายตัวของชุมชน การใช้สารเคมีในเกษตรกรรม และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งล้วนส่งผลกระทบให้ที่อยู่อาศัยของกบมีน้อยลง และ นอกจากนี้การจับกบมาใช้ประโยชน์มากขึ้น ทำให้กบมีปริมาณลดลง ไม่สามารถที่จะขยายพันธุ์ได้ทัน

ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำกบมาเพาะขยายพันธุ์และเลี้ยงได้จนประสบความสำเร็จ สามารถทำเงินให้กับผู้เพาะเลี้ยงได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งทำให้ปัจจุบันมีผู้สนใจในอาชีพการเลี้ยงกบเป็นจำนวนมาก เนื่องจากกบเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ลงทุนน้อย ดูแลรักษาง่าย ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น คือประมาณ 3 เดือน ต่อรุ่น และจำหน่ายได้ราคาดี สามารถให้ความคุ้มทุนทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัจจุบันได้มีตลาดต่างประเทศต้องการเนื้อกบ และผลผลิตกบแปรรูปเพิ่มมากขึ้น

แต่กระนั้นก็ตามผู้เลี้ยงกบส่วนมากยังคงประสบปัญหาความล้มเหลวในการเพาะเลี้ยงกบ ทั้งนี้เนื่องมาจากการขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคการเลี้ยง โดยเฉพาะพฤติกรรมของกบ ซึ่งมีความสำคัญในการจัดการเป็นอย่างมาก โดยรายละเอียดของการเลี้ยงกบมีดังนี้

  1. นิสัยและพฤติกรรมของกบ
  2. การคัดเลือกสถานที่เลี้ยง
  3. เทคนิคการเพาะเลี้ยงกบนอกฤดู
  4. การเลี้ยงและการจัดการ
  5. โรคของกบ
  6. หลักการตลาด
  7. การแปรรูปกบกระป๋อง

อุปนิสัยของกบ
กบถือเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้าชนิดหนึ่งที่ถือเป็นอาหารคู่กับคนไทยมาช้านาน เพราะมีรสชาดอร่อย ถูกปาก ปรุงอาหารได้มากมายเช่น ต้มยำต้มโคล้ง กบทอดกระเทียมพริกไทย กบทอดขมิ้น คั่วกบ ลาบกบ ในแบบอาหารอิสานก็สามารถทำได้เช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วกบจะมีมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ  แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตของมนุษย์เบียดเบียนธรรมชาติมากยิ่งขึ้นทำให้สัตว์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติหลายชนิดลดน้อยลงไปอย่างมาก  รวมถึงการจับมาเพื่อบริโภคโดยการไม่เหลือไว้ขยายพันธุ์ของมนุษย์ทำให้ประชากรกบลดน้อยลงไปมากขึ้นทุกวัน  จนไม่เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค
จึงทำให้มีนักคิดหัวใส หันมาสร้างอาชีพการเลี้ยงกบกันจำนวนมาก ที่ต้องการจะผลิตกบออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งผลิตเพื่อบริโภคในตลาดในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศหลายราย  เนื่องจากกบเลี้ยงง่าย ใช้เวลาเลี้ยงสั้น การดูและไม่ยุ่งยาก จึงทำให้การเลี้ยงกบถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีผู้เลี้ยงกบที่ประสบความล้มเหลวในการเลี้ยง ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจในอุปนิสัยที่แท้จริงของกบ ทำให้ไม่สามารถประสบความสำเร็จในอาชีพนี้  กบนั้นมีอุปนิสัยดุร้าย และชอบรังแกกัน    สาเหตุหลักคือการนำกบที่มีขนาดแตกต่างกัน เล็กบ้าง ใหญ่บ้างไปเลี้ยงรวมกันทำให้เกิดการกัดกันบ้าง การรังแกจากกบตัวใหญ่ไปสู่ตัวเล็กบ้าง ทำให้ลูกกบเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ปกติแล้วกบเป็นสัตว์รักอิสระ  เมื่อแหล่งที่เลี้ยงมีการใช้วัสดุที่เป็นตาข่ายที่สามารถมองเห็นธรรมชาติภายนอกได้ จึงทำให้กบมีความรู้สึกอยากออกไปภายนอก โดยเลือกที่จะใช้วิธีกระโดนชนอวน จนเกิดผลเสียกับตัวมันเองคือ ปากเป็นแผลและบาดเจ็บในที่สุด  บ้างครั้งส่งผลกระทบไปถึงการกินอาหารที่น้อยลงถึงกินไม่ได้เลยก็มี
กบเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังที่มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์น้ำ กล่าวคือ   กบเกิดขึ้นเป็นลูกอ๊อดหายใจทางเหงือก เมื่อโตร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป หางหดหายและมีขาเกิดขึ้นมาแทน   ระยะนี้ทำให้กบสามารถมาใช้ชีวิตอยู่บนบกได้ และเปลี่ยนการหายใจจากเดิมมาเป็นทางผิวหนังและปอดแทน สามารถเคลื่อนที่ด้วยการกระโดดไปไหนมาไหนได้ กบอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ  กบพบมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีการผสมพันธุ์วางไข่ในช่วงนี้มาก กบมักรู้ว่าต้องวางไข่ที่ใด โดยปกติแล้วแหล่งพื้นที่ที่กบมักนิยมวางไข่คือ ชายน้ำตื้นที่มีน้ำลึกประมาณ 1-8 นิ้ว มีพันธุ์ไม้น้ำขึ้นหนาแน่น มีอุณภูมิหรือแสงที่พอเหมาะ และแหล่งน้ำนั้นจะต้องมีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูง  หรือแม้แต่ที่โล่งแจ้งกบก็สามารถหาแหล่งที่เหมาะสมให้กับตัวมันเองได้
โดยธรรมชาติแล้วกบมักนิยมผสมพันธุ์และวางไข่ราว ๆ 3 วันหลังจากมีฝนตก เมื่อใดที่ฝนตกลงมา กบตัวผู้และตัวเมียจะหาที่หลบซ่อนสู่ที่โล่งแจ้งในเวลากลางคืน กบตัวตัวส่งเสียงร้องเรียกหาคู่ของมัน เมื่อกบตัวเมียได้ยินเสียงร้องเรียกก็จะส่งเสียงขานรับเป็นครั้ง ๆ และเมื่อกบตัวผู่้และตัวเมียได้เจอกัน หากกบตัวเมียมีความพร้อมเต็มที่ที่จะผสมพันธุ์มันจะยอมให้กบตัวผู้ขึ้นขี่หลัง และเอาคู่หน้าโอบกอดตัวมันไว้ จากนั้นก็กระโดดเคลื่อนที่ไปด้วยกันทั้งคู่ สักครู่ใหญ่จะหยุดแล้วกบตัวผู้จะเอาเท้าที่รัดอยู่แล้วรัดให้แน่นมากยิ่งขึ้น พร้อมกดตรงส่วนสะโพกให้แนบชิดกับช่องเพศของกันและกัน  เมื่อกบตัวเมียตอบสนองต่อการกระทำของกบตัวผู้แล้วนั้นจะมีการปล่อยไข่ออกมา และในขณะเดียวกันกบตัวผู้ก็จะปล่อยน้ำเชื้อออกมาเพื่อผสมพันธุ์กับไข่ของตัวเมีย  การปล่อยน้ำเชื้อและไข่จะมีการทำซ้ำอยู่หลายครั้งจนกว่าจะสิ้นสุด โดยปกติจะอยู่ราว  ๆ 2 ชม.
ไข่กบที่ผ่านการผสมพันธุ์นั้นจะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลปนเขียวประมาณ 50-100 ฟอง เป็นลักษณะกลมเกาะกลุ่มรวมกันลอยอยู่ปลิ่มน้ำ หากเคยพบเห็นไข่คางคก หรือเขียด จะทราบว่ามีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน  หากไข่ถูกปล่อยมาเป็นจำนวนมากจะมีน้ำหนักมากไม่สามารถลอยอยู่บนผิวน้ำได้
โดยปกติอาหารของกบ จะเป็นสัตว์มีชีวิต เช่น กบพวกเดียวกันเอง กุ้ง ปลา หรือแมลงต่าง ๆ  การกินอาหารของกบนั้นกบจะกะระยะให้ได้กับอาหารที่มันหมายปอง แล้วจึงกระโดดงับเหยื่อนั้น อาหารและการกินก็แล้วแต่แต่ละชนิด หากเป็นลูกกุ้ง ลูกกบ ลูกเขียด หรือลูกปลาก็จะใช้วิธีดังกล่าว หากเป็นแมลงที่บินได้ก็จะใช้วิธีคลานเข้าไปใกล้ ๆ ให้ได้ระยะที่มันต้องการแล้วจึงใช้ลิ้นตวัดกินเหยื่อเป็นอาหาร
ในช่วงฤดูร้อน อาหารต่าง ๆ มักขาดแคลน ด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาตินั้นลดน้อยถอยลงไป กบจะมีให้พบเห็นไม่มาก หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นฤดูจำศีลของกบ การจำศีลหมายถึงการที่กบจะขุดรูฝังตัวเองอยู่ใต้ดินลึกลงไปเป็นแนวดิ่งทำมุม 45 องศา กับปากรูที่มันขุดไว้ ลึกลงไปราว ๆ 7 ซม.   จากปากรูลงไปจะเล็กและแคบลง แต่เมื่อถึงบริเวณก้นรูจะมีขนาดกว้างและใหญ่พอให้ตัวกบนั้นอาศัยอยู่ได้ ก่อนจำศีลมันจะกินอาหารอย่างเต็มที่ เพื่อสะสมอาหารและไขมันก่อนจะอยู่ในรูที่ขุดไว้ เมื่อมันเข้าไปอยู่จะใช้วิธีหมอบตัวอยู่เฉย ๆ พลังงานที่สูญเสียนั้นจะเสียไปกับการหายใจทำเช่นนี้ไปตลอดการจำศีล