สัตว์ปีก » ไก่แจ้ » การเลี้ยงและการดูแลไก่แจ้

การเลี้ยงและการดูแลไก่แจ้

7 กันยายน 2014
13433   0

Chicken-raising-and-care.
ธรรมชาติของไก่แจ้ที่ควรรู้

1.  ด้านสายพันธุ์  ไก่แจ้ไทยมีมานานแล้ว โดยมากจะพบในวัด  มี 2 สาเหตุคือ ไก่ในวัดที่ถูกเลี้ยงดูแบบธรรมชาติ
ไม่มีการจัดการในเรื่องของการผสมพันธุ์ที่ถูกต้องจึงมีการผสมแบบเลือดชิด
จนได้ไก่แจ้ขึ้น  ส่วนประเด็นที่สองคือ ในอดีตไม่มีความเข้าใจในเรื่องการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด จึงไม่มีการวางแผนผสมพันธุ์ที่ดี และนำไปปล่อยวัดในเวลาต่อมา  และเมื่อมีการเลี้ยงไก่แจ้มากขึ้น จึงได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ ให้เตี้ยลง เล็กลง ได้ขนาดและสัดส่วนมากยิ่งขึ้น

2.  ด้านกายวิภาค  โครงสร้างของกระดูกไก่ถูกออกแบบมาเพื่อให้หลบหนีได้เร็ว คล่องตัวในเรื่องการวิ่งและบิน ดังนั้นกระดูกไก่ต้องเบา แต่แข็ง มีจำนวนกระดูกน้อยชิ้น ในขณะเดียวกันกล้ามเนื้อถูกออกแบบให้สอดคล้องกันกับ ระบบโครงสร้างของกระดูก  โดยมีกล้ามเนื้อหน้าอกใหญ่  มีน่องและเอ็นที่แข็งแรงเพื่อให้สามารถจับคอน หรือนอนบนต้นไม้ได้ ขนทำหน้าที่ควบคุมอุณภูมิในร่างกาย และปกป้องผิวหนังเพราะผิวหนังของไก่จะบางมาก

3.  ด้านการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม  สิ่งที่ควรรู้คือ  ระบบการควบคุมอุณภูมิภายในร่างกาย  เพราะมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของไก่เป็นอย่างมาก  กล่าวคือลูกไก่ต้องการอุณภูมิที่่ค่อนข้างสูงคือ 35 องศาเซลเซียส ขณะที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมค่อนข้างน้อย  ด้วยเหตุนี้เองแม่ไก่จึงต้องทำหน้าที่กกลูกเมื่อแรกเกิดเพื่อให้ความอบอุ่นตามอุณภูมิที่ลูกไก่ควรได้รับ  และเมื่อไก่มีอายุมากยิ่งขึ้นก็จะสามารถปรับตัวให้เข้ากันกับสิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น และอุณภูมิที่ไก่ต้องการก็จะแปรผันไปตามอายุของไก่ด้วยเช่นกัน  อุณภูมิและอากาศที่ถ่ายเทเป็นสิ่งสำคัญทำให้ส่งผลต่อตัวไก่ เพราะหากร้อนเกินอาจทำให้ไก่ชะงักการเจริญเติบโต และหากมีความชื้นมากจนเกินไปก็จะส่งผลให้ไก่เป็นโรคได้ง่าย

4.  ความต้องการด้านอาหาร  ไก่แจ้มีความต้องการด้านอาหารตามพัฒนาการและอายุ ในแต่ละช่วงวัยจะมีความต้องการด้านอาหารที่แตกต่างกันออกไป ไก่เล็ก จะมีความต้องการปริมาณของโปรตีนที่ค่อนข้างสูงเพื่อการเจริญเติบโตที่ดี และหากเมื่อโตขึ้นก็จะมีความต้องการในเรื่องของโปรตีนที่น้อยลง เราจะสามารถลดสูตรอาหารลงได้เพื่อให้เหมาะสมกับช่วงวัย และเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู  แต่อย่างไรก็ตามสารอาหารก็ต้องเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของไก่ด้วยเช่นกัน

5.  พฤติกรรม ไก่แจ้จัดเป็นสัตว์สังคม  ดังนั้นภายในฝูงจึงมีการจัดลำดับชั้นให้ฝูงของตน โดยการจัดลำดับชั้นหรือการเลือกหัวหน้าหมู่ หรือฝูงนั้น มีวิธีการคัดเลือกด้วยการจิกตีกันแต่จะไม่รุนแรง  ปกติแล้วไก่ตัวผู้มีการผสมพันธุ์ได้วันละประมาณ 45 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของตัวผู้  การจับคู่ก็ต้องมีอัตราส่วนที่เหมาะสมไม่อย่างนั้นอาจทำให้แม่ไก่โทรมได้  เช่นควรจัดให้พ่อไก่1:3  หรือ  1:5 ประมาณนี้ก็ได้
ขณะเดียวกันหากมีแม่ไก่มากอัตราการผสมติดก็จะต่ำ  การออกไข่ของไก่นั้นก็จะขึ้นอยู่กับแสงมากกว่าอุณภูมิและถ้าแม่ไก่ได้กกไก่เอง หรือเลี้ยงลูกเองแล้วแม่ไก่ก็จะไม่ให้ไข่ ดังนั้นถ้าต้องการให้แม่ไก่ออกไข่มากควรกระตุ้น โดยการเปิดไฟให้มีแสงวันละประมาณ 16 ชั่วโมง และควรนำไข่เข้าเครื่องฟัก (ไม่ให้กกไข่และเลี้ยงลูก)  การให้ไข่จะให้เป็นชุด  และเมื่อไก่อายุได้ 1 ปีกว่า จะมีการผลัดขน และให้ไข่ใหม่อีกครั้ง

6.  การจัดช่วงอายุ    การจัดช่วงอายุของไก่แจ้นั้น  ยังไม่มีการกำหนดชัดเจนเหมือนไก่ไข่ หรือไก่กระทง แต่อาจจัดได้อย่างกว้าง ๆ ดังนี้
ไก่เล็ก 0-6 หรือ 0-9 สัปดาห์
ไก่รุ่น  6-12 หรือ 6-19  สัปดาห์
ไก่ใหญ่  19-24 สัปดาห์ และไก่พ่อ-แม่พันธุ์ 24 สัปดาห์ เป็นต้น วัตถุประสงค์ในการจัดช่วงอายุของไก่ก็เพื่อ 1.  สามารถดูแล จัดการตัวไก่ให้เข้ากับพัฒนาการของร่างกาย 2. ลดต้นทุนด้านอาหาร 3. จัดการด้านการวางโปรแกรมวัคซีนให้ถูกต้อง  4. วางแผนการเลี้ยงได้

7.  ระบบภูมิคุ้มกัน  จะมีหลักกว้าง ๆ เพื่อความเข้าใจ คือลูกไก่แรกเกิด 0-7 วัน จะมีภูมิคุ้มกันดีหรือไม่  จะขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่ตลอดจนสุขภาพของลูกไก่เอง ถ้าแม่ไก่มีสุขภาพแข็งแรงดี ภูมิคุ้มกันสูงลูกไก่ก็จะได้ภูมิคุ้มกันจากแม่ลดลง จึงจำเป็นต้องทำวัคซีน  เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น วัคซีนบางชนิดอาจทำครั้งเดียว บางชนิดทำหลายครั้ง   การทำวัคซีนไม่ได้มีหน้าที่เอาไว้รักษาโรค  เพราะถ้าเกิดโรคขึ้นจะทำให้รักษายากขึ้น ดังนั้นการเลี้ยงไก่ที่ถูกต้องจึงต้องมีการทำวัคซีน เช่น นิวคลาสเซิล หลอดลมอักเสบ หรือกัมโบโร

การจัดการดูแลไก่แจ้อายุต่าง ๆ

1. การดูแลไก่เล็ก 0-6 หรือ 0-9 สัปดาห์  ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ลูกไก่จำเป็นต้องอยู่ในอุณภูมิที่เหมาะสม ดังนั้นต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่อายุ 0- 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามตั้งแต่อายุ 1 สัปดาห์เป็นต้นไป ควรลดอุณภูมิลงเรื่อย ๆ จนอุณภูมิเท่ากับสภาพแวดล้อม ประมาณวันละ 0.51-1 องศา ข้อควรระวังคือ พยายามอย่าให้อุณภูมิในตอนกลางวันสูงหรือแตกต่างจากอุณภูมิตอนกลางคืนมากนัก อาหารควรเป็นอาหารที่มีคุณภาพดี คือ 19-21% โปรตีนมีพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ 2,900-3,100 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัมอาหาร  เมื่อลูกไก่อายุได้ 7 วัน  ต้องทำวัคซีนนิวคลาสเซิลและหลอดลมอักเสบ โดยการหยอดตาหรือจมูก และทำซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ ได้ 4 สัปดาห์

2.  ไก่ระยะรุ่น  ไก่ระยะนี้อายุช่วง 6-12 หรือ 6-19 สัปดาห์ ซึ่งมีการเจริญเติบโตรวดเร็วกว่าในระยะอื่น ๆ และสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ดังนั้นคุณภาพอาหารจะลดลง คือ โปรตีน 16-17% และพลังงานที่ใช้ได้ประมาณ 2,700-2,800 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัมอาหารแต่ควรเสริมแร่ธาตุและวิตามินเป็นพิเศษ เพราะมีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างของกระดูก และขน ให้เป็นความสมส่วน ว้คซีนที่ให้ควรเป็นอหิวาต์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อและนิวคลาสเซิล โดยการแทงปีก และทำซ้ำทุก ๆ 6 เดือน
3. ไก่ใหญ่  ไก่ระยะนี้อยู่ระหว่าง 19-24 หรือมากกว่า 24 สัปดาห์ ซึ่งการเจริญเติบโตหยุดแล้ว  (ขน กล้ามเนื้อ หรือโครงสร้างกระดูก) แต่ระบบสืบพันธุ์จะยังคงพัฒนาเพื่อความพร้อมการในการสืบพันธุ์ ดังนั้น คุณภาพของอาหารก็จะลดลงได้อีก  คือมีโปรตีนประมาณ 14% และพลังงานที่ให้ประโยชน์คือ 2,700-2,800 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัมอาหาร ขณะที่ไม่จำเป็นต้องให้แร่ธาตุเพิ่มเป็นพิเศษ แต่ควรเน้นวิตามินโดยเฉพาะวิตามิน E ไก่ในระยะนี้จะมีขนขึ้นเต็มไปหมดแล้ว ไก่เองจะมีพฤติกรรมในการดูแลขนของตัวเองมากยิ่งขึ้น โดยการไซร้ขนซึ่งต้องใช้ไขมันที่ต่อมไขมันบริเวณก้นมาเพื่อช่วยจัดความเป็นระเบียบของขน และทำให้ขนเป็นเงา หากต้องการให้ไก่เจริญพันธุ์เร็วขึ้นก็ควรให้ไก่มีความยาวของแสงประมาณ 15-16 ชั่วโมงต่อวัน แต่ควรให้ระวังไม่ให้มีความเข้มของแสงมากเกินไปเพราะจะทำให้ไก่เครียด และจิกขนกันเองได้  ในระยะนี้ควรนำไก่ที่ต้องการนำไปเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ หรือไก่ที่จะนำไปประกวดมาเลี้ยงแยกกัน เพราะไก่ที่จะนำไปประกวดจำเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่  แต่หากต้องการให้แม่ไก่แจ้ไข่เพื่อผลิตลูกก็ไม่ควรให้แม่ไก่อ้วนจนเกินไป ซึ่งจะทำให้ไก่ไข่ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น  และเมื่อไก่ใกล้จะให้ไข่ ควรเปลี่ยนสูตรอาหารให้เป็นสูตรที่มีโปรตีนสูง 16% พลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้คือ 2,800 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัมอาหารเสริมด้วยเปลือกหอยบด และฟอสฟอรัสเพื่อช่วยในการสร้างไข่และเปลือกไข่