สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ » กบ » การเลือกสถานที่เลี้ยงกบ

การเลือกสถานที่เลี้ยงกบ

20 สิงหาคม 2014
3616   0

เนื่องจากศัตรูของกบมีมากพอสมควร การเลือกสถานที่ในการเลี้ยงกบนั้นควรจะอยู่ใกล้กันกับที่อยู่อาศัยของผู้เลี้ยง   เพราะกบมักส่งเสียงร้องเมื่อภัยมาถึงตัวของมัน มันจะทำการส่งเสียงร้องให้เจ้านายรู้เหมือนกับการส่งสัญญาณของสัตว์ชนิดอื่น ๆ  และอีกเรื่องหนึ่งคือการลักขโมยด้วยเช่นกัน

ในการเลือกหาสถานที่จำเป็นต้องเลือกหาทำเลที่เหมาะสมอาจทำได้ไม่ทั้งหมดตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็ควรพิจารณาถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

1.  ควรอยู่ใกล้กับที่พักอาศัยของผู้เลี้ยง  เพราะการเลี้ยงดูส่งผลทำให้กบนั้นมีความเชื่องและคุ้นเคยกับผู้เลี้ยง จึงทำให้กบกินอาหารได้ดี การดูแลรักษาจะทำได้ง่าย ปลอดภัยจากขโมย
2.  ควรอยู่บนพื้นที่ดอน  เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้เช่น  น้ำท่วม ทำให้กบหนีออกจากแหล่งเพาะเลี้ยงจนเกิดความเสียหายได้
3.  ควรอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำที่สะอาดที่เพียงพอสำหรับการนำมาใช้  เนื่องจากการเลี้ยงกบจำเป็นต้องมีการถ่ายน้ำในบ่อเลี้ยง  ซึ่งมีการกระทำทุก ๆ 2-3 วันครั้ง ดังนั้นเรื่องของแหล่งน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ
4.  ควรอยู่ห่างไกลจากถนน เพื่อป้องกันเสียงรบกวน  จากการสัญจรไปมาของยานพาหนะต่าง ๆ ที่จะส่งผลให้กบเกิดความเครียดได้    เพราะเมื่อกบเกิดความเครียดกบจะไม่ยอมออกมาจากที่ซ่อนทำให้กบหลบซ่อนอยู่เช่นนั้นจนตายได้ โดยธรรมชาติแล้วกบชอบอาศัยอยู่ตามแหล่งที่สงบเงียบจึงต้องจัดการเรื่องนี้ให้รอบคอบ
5.   ในกรณีที่ไม่ได้ทำการเพาะพันธุ์กบเพื่อเลี้ยงเอง  ควรเลือกแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์กบเพื่อจำหน่าย  หรือแหล่งที่สามารถจัดหาลูกกบมาเลี้ยงได้ง่าย
6.  อยู่ใกล้แหล่งอาหารเลี้ยงกบ  เพื่อสะดวกในการจัดหาอาหาร
7.  อยู่ในแหล่งที่มีสาธารณูปโภคครบถ้วน  เช่น ทางคมนาคม ไฟฟ้า โทรศัพท์ และสาธารณูปโภคอื่น ๆ
8.  อยู่ใกล้กับชุมชมที่นิยมบริโภคกบสูง  คือมีตลาดรองรับผลผลิต
9.  อยู่ในท้องถิ่นที่มีประชาชนที่มีอัธยาศัยที่ดี  เพื่อความปลอดภัยจากเหล่ามิจฉาชีพ ผู้ร้ายคุกคาม และปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลทางด้านจิตใจต่อการประกอบอาชีพเลี้ยงกบได้

การออกแบบ
สร้างบ่อเลี้ยงกบ
พื้นที่นั้นต้องเรียบสม่ำเสมอ ผิวไม่ขรุขระ  บ่อเลี้ยงนั้นขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงว่าต้องการสร้างแบบใด โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ คือ
1.  บ่อดิน  ซึ่งเป็นบ่อที่มีมาตั้งแต่อดีต นิยมสร้างขนาด 3×8 ตารางเมตร และ 5×10 ตารางเมตร โดยสร้างผนังบ่อ 1.20-1.50 เมตร ส่วนผนังบ่อจะสร้างด้วยอิฐบล็อก กระเบื้อง สังกะสี  หรือไม้ไผ่ผ่าซีกก็ได้  และเพื่อป้องกันกบกระโดดโดนผนังจนปากเป็นแผลบาดเจ็บ ถึงตายได้นั้น ก็สามารถใช้มุ้งไนล่อนบุกั้นผนังบ่อด้วยก็ได้ ภายในบ่อด้านข้างติดกับผนังบ่อโดยรอบให้ขุดบ่อน้ำหรือร่องน้ำกว้าง 1-1.50 เมตร ลึกประมาณ 30 เมตร ช่วยลดปัญหากบกระโดดชนผนังบ่อ  โดยกบจะกระโดดลงน้ำแทนเมื่อมีการตื่นตกใจ ทั้งนี้ควรใส่พืชน้ำจำพวกผักบุ้ง   ส่วนพื้นกลางบ่อควรโรยด้วยดินกรวด และอัดพื้นให้แน่น  เพื่อป้องกันกบขุดดินฝังตัวด้านล่างบ่อ  และจัดหาวัสดุให้กบได้ทำเป็นที่อยู่อาศัย เช่น ยางรถยนต์  กระเบื้องลอน ท่อน้ำ หรือกระบอกไม้ไผ่มาใส่เพื่อใช้เป็นที่หลบซ่อน  การเลี้ยงกบในลักษณะบ่อดินนี้กลางบ่ออาจขุดเป็นบ่อน้ำลึกประมาณ 1 เมตร ทำเป็นเกาะกลางบ่อให้เป็นที่พักหรือให้อาหารสำหรับกบ  บางรายสามารถเลือกที่จะปลูกตะไคร้เพื่อใช้เป็นที่หลบซ่อนของกบก็ได้เช่นกัน หรืออาจเลือกใส่วัชพืชน้ำให้กบใช้เป็นที่พักอาศัยก็ได้ตามต้องการ

การเลี้ยงกบในบ่อดินนั้นมักเกิดปัญหา ตัวอย่างเช่น บ่อรั่วซึมเก็บน้ำไม่อยู่ กบสามารถขุดดินหลบอยู่ในรูหรือหลุมได้  โดยเฉพาะช่วงที่กบจำศีลคือฤดูหนาว บางครั้งก็หลบซ่อนอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากทำให้เกิดการทับกันตายภายในหลุม นี่คือผลเสียของการเลี้ยงในบ่อดินเพราะทำให้สูญเสียกบไปเป็นจำนวนมาก
2.  คอก การเลี้ยงกบในคอกเป็นการเลี้ยงกบอีกแบบหนึ่ง คอกที่นิยมใช้เป็นคอกขนาด 4×4 เมตร 6×6 เมตร และ 8×8 เมตร วิธีการสร้างคอก อันดับแรกต้องเตรียมการปรับพื้นดินให้ราบเรียบสม่ำเสมอ วัดพื้นที่ปักเสาสี่มุมจากนั้นผู้เคร่าบนและล่างยึดเสาไว้ นำอวนสีเขียวมาขึงรอบนอก ส่วนทางด้านล่างให้ฝังอวนลงใต้ดินลึกประมาณ 20 ซม. จากนั้นเหยียบดินให้แน่น หลังจากนั้นนำไม้มาวางพาดด้านบนและผูกให้ติดกับเคร่าให้ห่างช่วงละ 1 เมตร นำทางมะพร้าวแห้งมาพาดให้เต็ม ลึกประมาณ 20 ซม. ไว้ตรงกลางคอก ทั้งนี้แอ่งน้ำควรฉาบด้วยปูนซีเมนต์เพื่อป้องกันการรั่วซึม รอบ ๆ แอ่งน้ำที่เป็นชานบ่อทั้ง 4 ด้าน หากระบะไม้ กะละมังแตก หรือกระบอกไม้ไผ่อันใหญ่ ๆ มาวางไว้ในคอกเพื่อให้กบหลบซ่อนตัวเวลากลางวัน ส่วนกระบะหรือลังไม้ที่นำมาวางให้เจาะประตูเข้าออกทางด้านหัวและท้ายเพื่อสะดวกต่อการจับกบจำหน่าย
คอกที่ล้อมรอบด้วยอวนไนล่อน ด้านล่างใช้ถังยางมะตอยหรือถังน้ำมันผ่าซีก หรือสังกะสีฝังลึกลงดินประมาณ 1 ศอก  เพื่อป้องกันศัตรูของกบบางชนิด เช่น หนูมาขุดรูลอดเข้าไปทำอันตรายกบในคอก  ส่วนด้านบนของบ่อเลือกมุมสักหนึ่งมุมมุงด้วยทางมะพร้าวเพื่อเป็นร่มเงา ใช้เป็นพื้นที่ให้อาหารกบอีกด้วย นอกจากนั้นบางแห่งใช้เสื่อรำแพนเก่า ๆ ที่ใช้ทำฝาบ้านมาวางซ้อนกัน โดยมีลำไม้ไผ่สอดกลางเพื่อทำให้มีช่องว่างสำหรับกบไปหลบซ่อน ด้านบนนั้นก็เป็นที่รองรับอาหารที่โยนให้กบกินได้ด้วย
ลักษณะบ่อกบที่มีมาก เช่นที่จังหวัดสุโขทัย โดยใช้พันธุ์ฺกบที่ซื้อมาจากนักล่ากบที่จับมาจากแหล่งธรรมชาติมาจำหน่ายเป็นลูกกบขนาด 20-30 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งซื้อขายกันในราคากิโลกรัมละ 20-30 บาท คอกขนาด 4×4 จะสามารถปล่อยกบลงเลี้ยงได้ในปริมาณ 1,000 ตัว ส่วนคอกขนาด 6×6 เมตร ปล่อยกบลงเลี้ยงได้ประมาณ 1,200 ตัว และคอกขนาด 8×8 จะเลี้ยงได้ประมาณ  2,500 ตัว

หลังจากปล่อยลูกกบเลี้ยงแล้วประมาณ 2-3 วัน จึงเริ่มทำการให้อาหาร เพื่อให้กบได้พักและปรับตัวให้คุ้ยเคยกับสถานที่ใหม่ อาหารที่นำมาให้นั้นคือปลาสับและปลาบดอย่างใดอย่างหนึ่ง ค่อย ๆ ให้ทีละน้อย เมื่อกบโตขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นปลาหั่นชิ้นเล็ก ๆ หรืออาจโยนให้ทั้งตัวก็สามารถทำได้หากปลามีขนาดเล็กค่อนข้างมาก หากเลือกใช้ปูนาต้องเด็ดก้ามหรือขาทิ้งก่อน หากเป็นหอยโข่งก็ต้องทำการทุบเอาเปลือกนอกออกก่อนให้ด้วย การให้อาหารควรมีการผสมอาหารกบชนิดเม็ดลงไปทีละน้อย ค่อย ๆ ปฏิบัติเช่นนี้เพื่อให้กบเกิดความเคยชิน
3. กระชัง กระชังเลี้ยงกบจะมีขนาดกว้างยาว ประมา 1.50 เมตร  และยาวประมาณ 4 เมตร กระชังดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการเพาะพันธุ์กบ เมื่อเลี้ยงลูกอ๊อดจนกลายเป็นกบที่มีขนาดโตเต็มวัย ก็ทำการคัดแยกไปเลี้ยงยังบ่ออื่น หรือทำการจำหน่ายต่อไป ส่วนกบที่เหลือก็ทำการเลี้ยงในกระชังต่อไป  พื้นที่ใต้กระชังสามารถใส่แผ่นโฟม หรือแผ่นกระดาน สอดด้านล่าง เพื่อให้เกิดส่วนนูนในกระชัง กบจะได้ขึ้นไปอาศัยส่วนรอบ ๆ ภายนอกกระชังใช้วัสดุแฝกหญ้าคา หรือทางมะพร้าว เพื่อให้กบเห็นทิวทัศน์นอกกระชัง หากบดบังวิสัยทัศน์บรรยากาศรอบข้างหมดจะทำให้กบอยากหนีออกภายนอก โดยทำการกระโดดชนอวนกระชัง ทำให้เกิดบาดแผลตามปากและเมื่อมีอาการเจ็บปวดก็ไม่สามารถกินอาหารได้ ส่วนด้านบนควรมีวัสดุพรางแสงให้เช่นกัน
4. บ่อซีเมนต์ การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์ เป็๋นการเลี้ยงที่มีผู้นิยมกันมาก เพราะนอกจากดูแลรักษาง่ายแล้ว กบที่เลี้ยงก็เจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย บ่อกบดังกล่าวจะมีขนาดราว 12 ตารางเมตร หรือขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร และสูงประมาณ 1.20-1.50 เมตรโดยก่อผนังด้วยอิฐบล็อก ฉาบด้วยปูนซีเมนต์สูงจากพื้นบ่อประมาณ 50  ซม.  เพื่อป้องกันน้ำรั่วซึม พื้นด้านล่างเทพื้นปูนหนาเพื่อรองรับน้ำ และติดท่อระบายน้ำขนาด 3 นิ้ว อยู่บริเวณส่วนที่ลาดสุด อาจมีท่อน้ำล้นอยู่ด้านตรงกันข้ามกับท่อระบายน้ำโดยทำการต่อท่อขึ้นสูงประมาณ 30 ซม. เพื่อใช้เป็นตัวควบคุมระดับน้ำในบ่อขณะทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำแบบน้ำล้น ส่วนประตูเข้าออกควรสร้างให้มีความสูงจากพื้นสูงประมาณ 50 ซม. และด้านที่ทำประตูก็ให้ติดตั้งท่อระบายน้ำเข้าที่มุมใดมุมหนึ่งของขอบบ่อหากเป็นบ่อที่สร้างติดกัน จะติดตั้งท่อระบายน้ำเข้าที่ขอบบ่อระหว่างบ่อทั้งสองก็ได้
ในบ่อเลี้ยงก็ให้สร้างแพลอยน้ำไว้เป็นที่วางอาหาร และเป็นที่พักอาศัยของกบ อาจทำด้วยวัสดุลอยน้ำ เช่น ไม้ไผ่ ต้นมะพร้าว ลักษณะแคร่ที่มีขาสูงกว่าระดับน้ำในบ่อเล็กน้อย ด้านบนแคร่นำเสื่อ หรือแผ่นยางพารา ปูไว้สำหรับเป็นที่ให้อาหารกบ ด้านล่างแคร่กบยังใช้เป็นที่หลบซ่อนได้อีกด้วย ด้านบนของบ่อไม่ควรสร้างเป็นหลังคา  ควรทำแบบเปิดกว้างและหาวัสดุพลางแสง เช่น ซาแรน หรือทางมะพร้าวมาทำเป็นหลังคาเพื่อพลางแสงเพื่อให้เกิดแสงส่องผ่านลงมาแบบรำไร ๆ เป็นการป้องกันไม่ให้น้ำภายในบ่อเลี้ยงร้อนเกินไปช่วงเวลาเที่ยง- บ่าย  จะทำให้กบขึ้นมาตากแดดกันอย่างสุขสบาย การสร้างบ่อเลี้ยงกบแบบบ่อซีเมนต์นั้นมีการสร้างกันมากมายหลายแบบแตกต่างกันออกไปตามแต่พื้นที่ ซึ่งสามารถพอสรุปได้ดังนี้
1. บ่อแบบพื้นลาดเอียง  
ภายในบ่อมีเนื้อที่ประมาณ 12 ตารางเมตร มีความกว้าง 3 เมตร และยาว 4 เมตร ความสูงของบ่อประมาณ 1.20 เมตร และพื้นลาดเอียงประมาณ 5 เมตร จะทำให้ระบายน้ำได้ดี  พื้นควรปูกระเบื้องสีอ่อนให้ใใกล้เคียงกับธรรมชาติ และสะดวกต่อการทำความสะอาด ภายในบ่อจัดหาวัสดุลอยน้ำจำพวกโฟมหรือแผ่นยางพารา หรือไม้ไผ่ทำเป็นแคร่ลอยน้ำ กบจะมีที่หลบภัยและมีที่กินอาหาร ทำให้ไม่เครียด การให้อาหารสามารถให้บนแคร่หรือจะโปรยลงน้ำก็ได้ บ่อที่เป็นชนิดลาดเอียงถือเป็นบ่อเอนกประสงค์ ปริมาณน้ำที่ใส่ลงไปในบ่อจึงขึ้นอยู่กับจำนวนกบที่เลี้ยงและเลี้ยงแบบใด บ่อชนิดนี้สามารถทำเป็นบ่อเพาะฟัก บ่ออนุบาลลูกอ๊อด-ลูกกบ บ่อเลี้ยงกบใหญ่หรือกบขุน บ่อเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ดังนัั้นน้ำในบ่อก็จะใส่ตามขนาดของตัวกบ ประมาณว่ากบตัวเล็กก็ใส่น้ำน้อย กบตัวใหญ่ก็ใส่น้ำมาก