นศ.ปี4.คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.เลี้ยงด้วงสาคู สร้างรายได้แก่ครอบครัว เดือนละไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท
นักศึกษาคณะทรัพยากรธรรมชาติ ภาควิชาการจัดการศัตรูพืช มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิจัยการเลี้ยงด้วงสาคูด้วยสูตรอาหารที่มีส่วนผสมของทางปาล์มน้ำมัน สร้างรายได้แก่ครอบครัวเดือนละไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท ฉายแววเป็นผู้ประกอบการสตาร์ชอัพที่น่าจับตามอง และได้นำด้วงสาคูทอดกรอบมาให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทดลองชิม เมื่อครั้งนายกรัฐมนตรีเดินทางมาปาฐกถาพิเศษที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560
นายจตุรงค์ ทองขาวเผือก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิชาเอกสาขาการจัดการศัตรูพืช สนใจการเลี้ยงด้วง จากการที่ทางคณะทรัพยากรธรรมชาติ นำนักศึกษาไปศึกษาดูงานการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นศัตรูพืช ประกอบกับตนเองชอบรับประทานด้วง เมื่อกลับมาเรียนจึงสนใจศึกษาและทำการเลี้ยงด้วง และเลือกทำวิจัย เรื่อง ผลของสูตรอาหารที่มีส่วนผสมของทางปาล์มน้ำมันและต้นสาคูต่อจำนวนและน้ำหนักของด้วงงวงมะพร้าว เป็นส่วนหนึ่งของการเรียน หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต โดยมี รศ.ดร.อรัญ งามผ่องใส คณะทรัพยากรธรรมชาติ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
นายจตุรงค์ ทองขาวเผือก กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยของตนพบกว่า การใช้ทางปาล์มน้ำมันผสมกับต้นสาคูใช้เลี้ยงด้วงช่วยเพิ่มผลผลิตของด้วงมากว่าการใช้ต้นสาคูเพียงอย่างเดียว โดยอัตราส่วนผสมที่ทำให้ผลผลิตของด้วงดีที่สุดคือทางปาล์มน้ำมัน:ต้นสาคู อัตราส่วน 1:3 แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณากำไรจากการเลี้ยงสูงสุด ควรใช้สูตรทางปาล์มน้ำมัน:ต้นสาคู อัตราส่วน 3:1 ควรใช้ทางปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ในพื้นภาคใต้ มาผสมกับต้นสาคูในการเลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตด้วงงวงมะพร้าวเพื่อผลตอบแทนสูงสุด โดยที่ผมจะนำทางปาล์มที่ชาวสวนปาล์มตัดทิ้ง แล้วเอาไปทำปุ๋ย หรือทิ้งมาผสมกับสาคู เลี้ยงด้วง
นายจตุรงค์ ทองขาวเผือก เล่าต่อไปว่า ได้เลี้ยงด้วงเป็นโครงงานเมื่อเรียนอยู่ในชั้นปีที่ 3 แล้วจึงไปเลี้ยงที่บ้านที่จังหวัดพัทลุง เดิมแม่มีอาชีพขายวัตถุดิบเกี่ยวกับอาหารหมู ตนเองกับแม่ได้ช่วยกันเลี้ยงด้วงเป็นอาชีพเสริม จำนวน 300 กาละมัง เดือนหนึ่งมีรายได้ หมื่นถึงสองหมื่นบาท เราจะยุ่งเฉพาะวันที่ผสมอาหารเพียงวันเดียว วางทิ้งไว้ 1 เดือน ดูแลด้านอุณหภูมิ งานไม่จุกจิก ตลาดหาง่าย คนทางภาคใต้นิยมรับประทาน ด้วงมีรสชาติที่อร่อย หวาน มัน มีผู้มารับซื้อถึงบ้าน เพื่อป้อนร้านอาหาร ด้วงนับเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของทางใต้ การเลี้ยงด้วงสามารถทำเป็นอาชีพเสิรมและอาชีพหลัก หรือนำไปประกอบอาหารรับประทานเองในครอบครัว
ด้วงในภาคอื่นตัวเล็กไม่ค่อยเจริญเติบโต เพราะไม่มีต้นสาคูซึ่งมีแป้งที่เป็นสารอาหารสำคัญของด้วง สาคูจะเจริญเติบโตแถบลุ่มน้ำ ผู้เลี้ยงที่ภาคอื่นจะเลี้ยงด้วงด้วยต้นมะพร้าว ผลผลิตที่ได้ตัวจะเล็กกว่า เพราะต้นมะพร้าวมีแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าสาคูนั่นเอง อุปสรรคของการเลี้ยงคือพวกแมลงหวี่ ที่มาแย่งอาหารของด้วง แต่สัตว์พวกนี้ตายลงภายใน 1 สัปดาห์ ผมได้ป้องกันโดยการทำโรงเรือนแบบปิด จึงสามารถควบคุมได้ ฤดูร้อนไม่มีปัญหา จะมีปัญหาฤดูฝน เพราะความชื้นมาก สามารถเลี้ยงด้วงได้ทั้งปี และสามารถส่งออกไปตลาดแถบยุโรป ต่างชาตินำด้วงไปเสริมโปรตีน สถานที่ที่อากาศหนาวจะเลี้ยงยาก
นายจตุรงค์ยังเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านการเลี้ยงด้วง ให้แก่ชุมชนและเพื่อนบ้าน มีผู้สนใจในการเลี้ยงด้วงมาสอบถามหลายคนแล้ว นายจตุรงค์เปิดเผยว่า สนใจจะแปรรูปอาหารด้วง โดยด้วงสด มีราคากิโลกรัมละ 200-300 บาท เมื่อแปรรูปแล้ว อยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 1,200 บาท ในต่างประเทศนิยมนำไปบดเพื่อทำขนม หนอนด้วงมีโปรตีนมากกว่าเนื้อวัวถึง 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ยังไม่แน่ใจว่าจะแปรรูปแบบใด แต่ก็อยากจะหาวิธีการแปรรูปและทำบรรจุภัณฑ์ด้วงที่ทันสมัย ต่อไป
เมื่อครั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาปาฐกถาพิเศษที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา และแวะเยี่ยมเกษตรกรและพ่อค้าแม่ค้า ที่ตลาดเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตนได้นำด้วงทอดกรอบแล้ว มาเสริฟให้นายกรัฐมนตรีรับประทาน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560
นายจตุรงค์ ทองขาวเผือก ให้ข้อมูลว่า วัสดุและอุปกรณ์ในการเลี้ยง ประกอบด้วย 1. กะละมัง 2. ฝาชีปิดกะละมัง 3. ต้นสาคู 4. ทางปาล์มน้ำมัน 5. EM 6. กากน้ำตาล 7. ถาดรองกะละมัง 8. ตาชั่ง 9. โต๊ะวางกะละมัง 10. อิฐทับฝาชีปิดกะละมัง 11. อาหารหมูขุน
วิธีการเลี้ยงด้วงของตน มีดังนี้คือ นำส่วนผสมตามกรรมวิธีต่างๆ ข้างต้น ใส่ในกะละมังขนาดกว้าง 55 เซนติเมตร จากนั้นใส่อาหารหมูเล็ก 200 กรัม ซึ่งมีองค์ประกอบของโปรตีน 19 % ไขมัน 3 % กาก 8 % ความชื้น 13 % และใส่รำละเอียด 200 กรัม กากน้ำตาลปริมาณ 200 มิลลิลิตร และ EM ปริมาณ 200 มิลลิลิตร คลุกเคล้าส่วนผสมต่างๆให้เข้ากัน โดยปรับให้ความชื้นของส่วนผสมหลังจากคลุกเคล้าให้เข้ากันเรียบร้อยแล้วอยู่ประมาณ 70-80 % ทั้งนี้หากความชื้นของส่วนผสมมากเกินไปจะส่งผลทำให้พ่อแม่พันธุ์ด้วงตาย และหากส่วนผสมแห้งเกินไปก็จะส่งผลทำให้พ่อแม่พันธุ์ไม่วางไข่และไข่ไม่ฟักเป็นตัวอ่อน เมื่อปรับความชื้นให้เหมาะสมแล้ว หั่นเปลือกมะพร้าวให้มีลักษณะเป็นทรงกลม เพื่อใช้สำหรับการวางไข่ของด้วงงวงมะพร้าว หลังจากนั้นใส่พ่อแม่พันธุ์ด้วงงวงมะพร้าวจำนวน 4 คู่/กะละมัง คลุมกะละมังด้วยพลาสติกสีดำ หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ไว้ในกะละมังเป็นเวลา 15 วัน จึงนำพ่อแม่พันธุ์ออกจากกะละมัง ทั้งนี้เนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นในกะละมังที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้พ่อแม่พันธุ์ตาย ระยะเวลาเลี้ยงรวม 1 เดือน
รศ.ดร.อรัญ งามผ่องใส ภาควิชาการจัดการศัตรูพืช คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าชื่นชมลูกศิษย์ คือนายจตุรงค์ ทองขาวเผือก ที่นำความรู้จากการเรียน และสิ่งที่ตนสนใจ มาทำจริงจังช่วยสร้างรายได้ให้ครอบครัว
ผศ .ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การเลี้ยงด้วงของนายจตุรงค์มีความแตกต่างกับชาวบ้านทั่วไป เพราะมีงานวิจัยทางวิชาการมาสนับสนุน จากความรู้ที่เรียนมา โดยนำทางปาล์มมาผสมสาคู ช่วยลดต้นทุน เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เป็นดาวรุ่ง
ที่มาจาก http://www.psu.ac.th/th/node/8150