นับตั้งแต่ได้มีการก่อตั้งองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลและกำหนดมาตรการต่างๆ ในการส่งออกสินค้าสู่ตลาดประเทศ ซึ่งเริ่มมีการบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2543 ประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกองค์กรดังกล่าว จึงมีความตื่นตัวและจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น หน่วยงานที่รับผิดชอบในการผลิตปศุสัตว์ในประเทศไทย คือ กรมปศุสัตว์ ได้ออกกฎ ระเบียบ กฎหมาย รวมถึงมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก และองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)
และถือว่าเป็นมาตรฐานการผลิตสินค้าทางการเกษตร (GAP) ด้านการผลิตปศุสัตว์ ซึ่งมีมาตรฐานที่สำคัญบางประการดังนี้
- มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์
- การควบคุมการใช้ยาในมาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์
- ข้อกำหนดการควบคุมการใช้ยาสำหรับสัตว์
1. มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศเรื่องมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ประเทศไทย พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2542 จำนวน 3 เรื่อง คือ
- มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อของประเทศไทย
- มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสุกรของประเทศไทย
- มาตรฐานฟาร์มโคนมและการผลิตน้ำนมดิบของประเทศไทย
โดยให้ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่มีความต้องการขอใบรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์จากกรมปศุสัตว์ เพื่อยื่นคำร้องพร้อมด้วยหลักฐานต่อปศุสัตว์จังหวัดหรือปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ฟาร์มตั้งอยู่ แล้วเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จึงไปทำการตรวจสอบฟาร์มเพื่อดำเนินการต่อไป
วัตถุประสงค์ของการจัดทำมาตรฐานฟาร์ม
- เพื่อปรับปรุงระบบการเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยให้เป็นรูปแบบมาตรฐานเดียวกันและมีคุณภาพ
- เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยในการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับการรับรองเป็นฟาร์มมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์
- เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ส่งออก
- เพื่อลดมลภาวะจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
- เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์
- มีทำเลที่ตั้งฟาร์ม ตลอดจนมีการออกแบบสิ่งก่อสร้างและโรงเรือนที่เหมาะสม
- มีระบบทำลายเชื้อโรคก่อนเข้า – ออกจากฟาร์ม
- มีการจัดการโรงเรือน สิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสียที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล
- โรงเรือนที่ใช้เลี้ยงสัตว์มีลักษณะและขนาดที่เหมาะสมกับจำนวนสัตว์
- มีการจัดการด้านอาหารสัตว์อย่างถูกต้องตามหลักสุขศาสตร์
- มีคู่มือการจัดการฟาร์มและมีระบบการบันทึกข้อมูล
- การจัดการด้านสุขภาพสัตว์ มีโปรแกรมการให้วัคซีนป้องกันโรคและการให้ยาบำบัดโรคเมื่อเกิดโรค
- การจัดการด้านบุคคล สัตวแพทย์ สัตวบาล และผู้เลี้ยงสัตว์ต้องมีเพียงพอและเหมาะสมกับจำนวนสัตว์ พร้อมทั้งมีสวัสดิการสังคมและการตรวจสุขภาพประจำปีให้กับบุคลากร
องค์ประกอบพื้นฐานของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ขอใบรับรองมาตรฐาน
สิทธิประโยชน์ของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ได้มาตรฐาน
- การเคลื่อนย้ายสัตว์ ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงโคนมและสุกรสามารถขออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าในหรือผ่านเขตปลอดโรคระบาดได้จากปศุสัตว์จังหวัด โดยปฏิบัติตามระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการนำเข้าหรือการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร
- กรมปศุสัตว์จะจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคอหิวาต์สุกรให้มีจำหน่ายอย่างเพียงพอ ตามปริมาณสุกรของฟาร์มเลี้ยงสุกรมาตรฐาน
- กรมปศุสัตว์จะให้บริการการทดสอบโรคแท้งติดต่อในพ่อแม่พันธุ์สุกร รวมทั้งโรคแท้งติดต่อและวัณโรคในโคนม โดยไม่คิดมูลค่าสำหรับฟาร์มที่ได้มาตรฐาน
- กรมปศุสัตว์จะให้บริการตรวจวินิจฉัยและชันสูตรโรคสัตว์ โดยไม่คิดมูลค่าสำหรับตัวอย่างที่ส่งตรวจจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์มาตรฐาน