สัตว์ปีก » ไก่เนื้อ » ระบบของการเลี้ยงไก่เนื้อ(ไก่กระทง)

ระบบของการเลี้ยงไก่เนื้อ(ไก่กระทง)

2 กันยายน 2014
5510   0

การเลี้ยงไก่เนื้อในปัจจุบันมีการจัดทำเป็นการค้ากันอย่างแพร่หลาย โดยมีการคำนึงถึงลักษณะของต้นทุนของผู้เลี้ยงแล้ว อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภทดังนี้

1. ประเภทเลี้ยงอิสระ ผู้เลี้ยงไก่ประเภทนี้มีการใช้เงินทุนของตัวเอง หรืออาจกู้เงินมาลงทุนโดยไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ กับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายลูกไก่ อาหารและยาผู้เลี้ยงสามารถซื้อตามต้องการ และมีอิสระในการเลือกผลผลิตให้ผู้ค้ารายใดก็ได้ แต่อาจเสี่ยงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางด้านราคาตามการขึ้นลงของตลาดในแต่ละช่วงเวลา ผู้เลี้ยงจะมีผลกำไรมากตอนช่วงที่ไก่มีราคาค่อนข้างสูงและอาจได้รับผลกระทบเมื่อราคาตกต่ำ
2. ประเภทรับจ้างเลี้ยง การเลี้ยงไก่เช่นนี้ ผู้เลี้ยงเองต้องลงทุนสร้างเล้าหรือฟาร์มด้วยตนเอง รวมถึงอุปกรณ์ควบภายในเล้าต่าง ๆ หรือส่วนอื่น ๆที่เป็นอาณาบริเวณที่มีการกำหนดมาตรฐานโดยกรมปศุสัตว์ แต่เรื่องของอาหาร ยา ลูกไก่ ผู้ว่าจ้างหรือบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนให้ ผลตอบแทนที่ผู้เลี้ยงชนิดนี้จะได้รับคือ จำนวนของไก่ที่เลี้ยงและมีการรอดตาย โดยมีการจ่ายค่าจ้างเลี้ยงให้ประมาณ 1.00-1.50 บาทต่อตัว ดังนั้นผู้เลี้ยงประเภทนี้จะไม่เดือดร้อนจากราคาไก่ที่มีการเปลี่ยนแปลง

3. ประเภทประกันราคา ผู้เลี้ยงประเภทนี้จะมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร กับบริษัทผู้ประกันไว้เป็นการล่วงหน้า ในเรื่องราคาซื้อขายและจำนวนไก่ โดยเกษตรกรมีข้อผูกพันคือต้องซื้อลูกไก่ อาหารสัตว์ และยาสัตว์ทั้งหมดจากบริษัทผู้ประกัน ในด้านการลงทุน ผู้เลี้ยงต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด การเลือกเลี้ยงประเภทนี้ถือว่ามีความเสี่ยงน้อยและรายได้ค่อนข้างสูง แต่จะมีกำไรไม่มากเท่ากับผู้เลี้ยงอิสระในช่วงเวลาที่ไก่ราคาสูง แต่จะไม่ประสบปัญหาขาดทุนในกรณีที่มีปัญหาราคาตกต่ำ
4. การเลี้ยงแบบเปิดบัญชีเงินเชื่อ การเลี้ยงประเภทนี่้จะมีภาระผูกพันกับพ่อค้าหรือตัวแทนบริษัทต่าง ๆ กล่าวคือผู้เลี้ยงจะเปิดบัญชีเงินเชื่อเกี่ยวกับลูกไก่ อาหารสัตว์ ยาไก่ กับพ่อค้าหรือตัวแทนในการลงทุน โดยผู้เลี้ยงต้องมีที่ดินสร้างโรงเรือน อุปกรณ์ แรงงาน และอื่น ๆ ของตนเองทั้งหมด
ดังนั้นการเลี้ยง เมื่อไก่ได้ขนาดก็จะต้องขายผ่านพ่อค้าหรือตัวแทนดังกล่าว โดยตัวแทนหรือพ่อค้าจะเป็นผู้หาตลาดให้ ผู้เลี้ยงจะเลือกขายได้ในราคาตลาดแต่ละวัน ในการจ่ายเงินของผู้ซื้อไก่ เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้ว ต้องจ่ายผ่านพ่อค้าหรือตัวแทน ทั้งนี้จำเป็นที่จะต้องนำมาหักกับค่าอาหาร ค่าลูกไก่ ค่ายา และอื่น ๆ ส่วนที่เหลือจึงเป็นรายได้ของผู้เลี้ยง