ลักษณะรูปร่างของกบปกติแล้วกบสามารถเลือกจำศีลได้ทั้งบนบก และในน้ำ หากพื้นที่บนบกกบจะเลือกบริเวณที่มีความร่มเย็นหรือบริเวณที่มีดินแตกระแหงเพื่อเมื่อเกิดมีฝนตกเกิดขึ้นมาก็จะสามารถออกมาจากพื้นที่จำศีลได้ง่าย และทำการผสมพันธุ์วางไข่สืบต่อไป
สำหรับไข่กบที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อแล้วก็จะพัฒนา เป็นลูกอ๊อด ลูกกบ กบโตเต็มวัยและเข้าสู่วัยสืบพันธุ์ต่อไป วิธีสังเกตุลูกกบนั้นก็จะมีจุดแตกต่างกันกับลูกเขียดทั่ว ๆ ไปคือ ลูกกบจะมีหัวทู่กว่าหัวลูกเขียด ขนาดตัวใหญ่กว่าลูกเขียดลักษณะลายหลังและเส้นขาวที่พาดไม่เหมือนกัน กบโตเต็มที่นั้นก็มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
1. ส่วนหัว จะมีรูปร่างติดกับลำตัว ไม่มีมีคอ ตากลมโปนออกมามองเห็นได้จากที่มืด โดยเฉพาะตอนกลางคืนเมื่อกระทบกับแสงแดง กบมองเห็นตอนกลางวันได้ไม่ค่อยดีนัก กบจะมีหูอยู่ถัดจากตาด้านหลังเล็กน้อยทั้ง 2 ข้าง ลักษณะเป็นแผ่นกลมบาง ๆ มีรูจมูก 2 รูทะลุผ่านเข้าไปที่ช่องปาก เพื่อให้อากาศจากภายนอกปากผ่านเข้าไปภายในเพื่อใช้ในการหายใจ ปากกบมีลักษณะกว้างมาก เมื่อจับกบอ้าปากจะเห็นลิ้นที่มีลักษณะแบนและส่วนโคนลิ้นจะติดอยู่กับส่วนหลังของขากรรไกรล่าง ถัดเข้าไปเป็นขากรรไกรบนและเพดานปากจะมีฟันอยู่ 2 แถว เข้าใจว่ามีเอาไว้ทำหน้าที่ไม่ให้อาหารที่เข้าไปอยู่ในปากหลุดออกมาภายนอกปากได้
2. ส่วนลำตัว จะมีลักษณะพองกว้างออกโดยเฉพาะกบตัวเมีย ส่วนตัวผู้บริเวณนี้มักจะคอดเล็ก ส่วนกึ่งกลางลำตัวจะมีปุ่มนูน 2 ปุ่ม มีขา 2 คู่ คือหน้า 1 คู่ หลัง 1 คู่ ขาหน้าจะสั้นกว่า มีนิ้ว 4 นิ้ว นิ้วหัวแม่มือด้านในสุดมีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สังเกตุเห็นง่าย ขาหลังจะมีขนาดใหญ่กว่าและแข็งแรง มีนิ้ว 5 นิ้ว นิ้วหัวแม่เท้าจะสั้นกว่านิ้วอื่น ๆ ระหว่างนิ้วทั้ง 5 นิ้วก็จะมีแผ่นบาง ๆ ยึดเชื่อมติดกัน มีไว้สำหรับว่ายน้ำ
ทั้งส่วนหัวและลำตัวมีผิวหนังหุ้ม ลักษณะอ่อนนุ่ม เรียบ ลื่น นิดหน่อย เนื่องจากมีเมือกสำหรับหล่อลื่นผิวหนังตลอดเวลา กบจะมีหนัง 3 ชั้น ผิวหนังกบประกอบไปด้วยเม็ดสีต่าง ๆ เช่น สีเหลืองปนแดง น้ำตาลปนดำ น้ำเงินปนเทา โดยทั่วไปกบมีลำตัวสีเหลือง สีน้ำตาลปนเขียว หรือดำ แต่ที่น่าอัศจรรย์คือผิวหนังของมันสามารถเปลี่ยนสีได้ตามฤดูกาลต่าง ๆตามสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ เช่นฤดูผสมพันธุ์ในหน้าฝนผิวของมันจะเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ หรือเหลืองออกส้มจนเห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะตัวผู้ซึ่งสังเกตุได้ง่ายกว่าตัวเมีย
และหากจับกบตัวผู้พลิกหงายท้องขึ้นจะเห็นกล่องเสียงอยู่ใต้คาง แถว ๆมุมปากล่างทั้ง 2 ข้าง ส่วนตัวเมียจะมองไม่เห็นกล่องเสียง ในฤดูเดียวกันนี้ ลักษณะของกบตัวเมียที่เห็นได้ชัด คือมีลักษณะท้องบวมใหญ่กว่าปกติเพราะเป็นช่วงที่มีไข่แก่นั่นเอง