สัตว์ปีก » ไก่แจ้ » แนวทางการพัฒนาไก่แจ้

แนวทางการพัฒนาไก่แจ้

7 กันยายน 2014
2990   0

ก่อนที่จะพูดถึงจะขอเอ่ยถึงความเป็นมาของไก่แจ้ที่เราเลี้ยงในเมืองไทยเพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นก่อน ตามประวัติไก่แจ้ที่เราเลี้ยงกันในประเทศไทยมีอยู่  2 สาย

พันธุ์ ได้แก่ไก่แจ้ไทย และไก่แจ้ญี่ปุ่น ไก่แจ้ไทยมีมานานอาจกล่าวได้ว่ามีมาพร้อมกับประเทศไทยเลยก็ว่าได้   อาจไม่มีบันทึกระบุไว้แต่เชื่อกันว่ามีมานานแล้ว จากการที่เราเลี้ยงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้  มีวิวัฒนาการมาจากไก่ป่า 4 ชนิด คือไก่ป่าสีแดง ไก่ป่าสีเทา ไก่ป่าซีลอน และไก่ป่าชวา  ไก่ทั้ง 4 ชนิดนี้มีแหล่งกำเนิดมาจากนา ๆ ประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  ได้แก่ประเทศ พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย  รวมทั้งประเทศอินเดียและศรีลังกา  ไก่ป่าทั้ง 4 ชนิด นี้กลายเป็นไก่พันธุ์ต่าง ๆ ที่เราเลี้ยงกันในปัจจุบันทั่วโลกและเพื่อการค้าในปัจจุบัน ไก่แจ้ที่มีลักษณะดั้งเดิมที่เป็นที่ยอมรับกันนั้นมีอยู่ 3 สี  คือ สีประดู่ สีดำ สีขาว ลักษณะเหมือนไก่ป่าสีแดงบางทีเรียกว่าสีไก่ไทย  ไก่แจ้ไทยรูปร่างเตี้ย เล็ก หัวและหงอนเล็กกว่าไก่แจ้ญี่ปุ่น ส่วนหางกระรวยโค้งงอ ส่วนไก่แจ้ญี่ปุ่นนั้นตามประวัติประมาณ ปี พ.ศ. 2146-2176 ญี่ปุ่นได้นำไก่แจ้จากตอนใต้ของประเทศจีนนำไปเลี้ยง และพัฒนาสายพันธุ์จนได้รูปทรงและสีสันสวยงามไปตามจินตนาการของเขา  ภายหลังญี่ปุ่นได้ปรับปรุงสายพันธุ์ด้วยการนำไก่แจ้จากคาบสมุทรอินโดจีนมาเพิ่มเติม และใช้เวลาในการปรับปรุงเป็น ร้อยปี  จนได้ไก่แจ้ที่ได้มาตรฐาน  ทั้งขนาด ลักษณะ รูปร่าง  สีสันต่าง ๆ   ในปี พ.ศ. 2367  ในประเทศอังกฤษ และอเมริการได้มีความนิยมแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากได้มีการนำไก่แจ้ญี่ปุ่นเข้ามาเลี้ยง  และเกิดมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับสืบต่อมา

ไก่แจ้ที่นิยมเลี้ยงกันในประเทศไทยคือไก่แจ้จากญี่ปุ่นที่เข้ามามีบทบาทเมื่อประมาณ 25-30 ปีที่แล้ว  และอาจมีสายเลือดไก่แจ้ไทยปะปนบ้างเล็กน้อย   และเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมาก็มีผู้นำไก่แจ้จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาอีกท ซึ่งเราเรียกว่าไก่แจ้ญี่ปุ่นเลือดร้อย และมีราคาแพง ประกอบกับช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมามีสื่อเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและสัตว์ปีกได้นำข้อมูลของไก่แจ้มาเผยแพร่มากขึ้น  รวมทั้งสื่อโทรทัศน์ทำให้มีผู้สนใจและตื่นตัวมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าแต่เดิมจะมีชมรมที่เลี้ยงไก่แจ้ในกรุงเทพฯ เพียง 3-4 ชมรมเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการรวมตัว และก่อตั้งชมรมไก่แจ้ในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น  และชมรมใหญ่ ๆ ในกรุงเทพ ก็ได้เปลี่ยนเป็นสมาคมหลายสมาคม และบางสมาคมใหญ่ ๆ ก็มีสาขากระจายอยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งคาดว่าอาชีพการเลี้ยงไก่แจ้จะเติบโตและมีอนาคต  แต่อย่างไรในอดีตการพัฒนาสายพันธุ์ไก่แจ้ในไทยยังเป็นในลักษณะวงแคบ เพราะผู้เพาะเลี้ยงยังเป็นลักษณะลองผิดลองถูก บวกกับประสบการณ์ของผู้เลี้ยงที่ถูกเก็บเป็นความลับ ไม่ค่อยมีการเผยแพร่  และยังขาดหลักทางวิชาการในการปรับปรุงสายพันธุ์อย่างแท้จริง    ดังนั้นนักวิชาการสัตว์ปีกควรให้ความสนใจในด้านไก่แจ้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพ การเลี้ยงไก่แจ้เพื่อความสวยงาม และพัฒนาพันธุ์ไก่ให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะไก่แจ้ไทยแท้กำลังจะสูญพันธุ์
ไก่แจ้ไทยแท้นั้นเกือบจะสูญพันธุ์ไปหมด ไก่แจ้ที่เรานิยมเลี้ยงกันส่วนใหญ่มักเป็นไก่แจ้สายเลือดญี่ปุ่นแทบทั้งสิ้น    ปัจจุบันหาผู้ที่จะพูดถึงไก่แจ้ของไทยนั้นมีน้อยมาก และนับว่าแทบจะสูญหายไปจากประเทศไทยเลยก็ว่าได้   และข่าวของการประกวดไก่แจ้ไทยนั้นก็แทบไม่มีเลย ถึงมีก็นาน  ๆครั้ง  และแต่ละครั้งไก่ที่เข้าประกวดก็มีเพียงไม่กี่ตัว   โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ หน่วยงานของรัฐ และสมาคมอนุรักษ์พัฒนาพันธุ์ไก่พื้นเมืองควร  จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้  และหาทางสนับสนุนส่งเสริมให้มีการเลี้ยงและการประกวด แข่งขันควรคู่กันไปกับการประกวดไก่พื้นเมือง  และไก่ชน ซึ่งปกติปศุสัตว์อำเภอ และปศุสัตว์จังหวัด ได้มีการประกวดไก่แจ้ประจำปีอยู่แล้ว  เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจและมีการอนุรักษ์ไก่แจ้ไทยให้มากยิ่งขึ้น
พันธุ์ไก่แจ้ทั่วโลก
ไก่แจ้ทั่วโลกนี้มิใช่มีเพียงไก่แจ้ไทย และไก่แจ้ญี่ปุ่นเท่านั้น    แต่มีมากมายหลายสิบพันธุ์ที่อยู่ในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป อเมริกา  ก็มีด้วยเช่นกัน  เช่นพันธุ์ ซารามอ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมเลี้ยงกันในประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น มาเลเซีย  สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย   รวมทั้งจังหวัดชายแดนใต้ของไทยที่ติดกับมาเลเซียอีกด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีไก่แจ้สายพันธุ์อื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถเลือกผสมให้เกิดไก่แจ้สีแปลกใหม่ในบ้านเราได้อีก
แนวทางการพัฒนาพันธุ์ และการเลี้ยงไก่แจ้ในอนาคต
หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันทั้งภาครัฐและเอกชนต้องหาแนวทางร่วมมือกันดังที่กล่าวมาเบื้องต้นว่า   ขณะนี้ประเทศไทยมีสมาคมเกี่ยวกับไก่แจ้ประมาณ 5 สมาคม ซึ่งแต่ละสมาคมก็มีกฏ กติกา แตกต่างกันออกไป  มากบ้าง น้อยบ้าง จนบางครั้งเกิดความขัดแย้งทางความคิด   จนทำให้ผู้เลี้ยงและชมรมต่าง ๆ เกิดความสับสน ดังนั้นผู้เขียนมีความเห็นว่าควรร่วมมือกันปรึกษาหารือ ในเรื่องของการกำหนด กฎ กติกา ต่าง ๆ ร่วมกัน โดยมีการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ เช่นกรมปศุสัตว์ หน่วยงานอนุรักษ์พืชพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ  และมีการปรับปรุงด้วยงบประมาณการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐทั้งนี้เพราะว่าการเลี้ยงไก่แจ้สวยงามกำลังเป็นที่นิยมของหมู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น และยังเป็นที่สนใจของผู้เลี้ยงไก่แจ้สวยงามจากต่างประเทศ  และมีศักยะภาพที่จะพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจพันธุ์ใหม่ได้
สิ่งที่นักพัฒนาไก่แจ้และผู้เลี้ยงจะต้องมองไปข้างหน้าในอนาคตคือการส่งออกไก่แจ้สวยงามไปจำหน่ายยังต่างประเทศเท่านั้น  วันหนึ่งข้างหน้าจะต้องถึงจุดอิ่มตัวแน่นอน ดังนั้นเราต้องศึกษาความต้องการและความนิยมของตลาดต่างประเทศด้วย   เช่นเค้ามีความนิยมชมชอบไก่แจ้สวยงามแบบไหน และเราสามารถพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของเค้าเหล่านั้นได้หรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการ ผู้เลี้ยง สมาคม รวมถึงกรมปศุสัตว์ต้องร่วมมือกันระดมความคิด กำหนดทิศทางการพัฒนาไก่แจ้เพื่อการส่งออกมาให้ชัดเจน
ดังนั้นประเทศญี่ปุ่นถือเป็นต้นแบบที่เราสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นสากลได้เช่นเดียวกันกับเค้า  และให้เป็นที่นิยมสืบต่อไป  จริง ๆ แล้วคนไทยไม่เคยด้อยกว่าประเทศไหน ๆ ผู้เขียนมีความเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นที่ยอมรับแก่ผู้ที่ชื่นชอบหรือนานาชาติได้หากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากหลายหน่วยงานที่กล่าวมาข้างต้น  อนาคตหากมีการปฎิบัติเช่นนั้นจริง ๆ ก็สามารถที่จะจดทะเบียนให้เป็นมาตรฐานพันธุ์ และลิขสิทธิ์พันธุ์ไก่แจ้สวยงามที่เป็นฝีมือของคนไทยได้
สรุปแนวทางเบื้องต้นที่เป็นไปได้
1.  สมาคมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องมีการกำหนด กฎเกณฑ์ กติกาต่าง ๆ อย่างจริงจัง  โดยพิจารณาจากความนิยมทั้งในและต่างประเทศ โดยมีความเห็นเป็นเอกฉันท์จากทุกหน่วย
2.   ต้องได้รับการช่วยเหลือจาก หน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้ กรมปศุสัตว์ สมาคมอนุรักษ์พัฒนาไก่พื้นเมืองไทย สมาคมศึกษาทางการเกษตร  นักวิชาการด้านสัตว์ปีก  และด้านวิชาการทั้งหมดเหล่านี้หากให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนก็จะมีความเป็นไปได้อย่างมาก
3.  การเอาสีไก่แจ้ไทย กับสีไก่แจ้ที่มีลักษณะโดดเด่น สวยงามต่าง ๆ มาผสมและพัฒนาสายพันธุ์ร่วมกันกับของไทย เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่และสวยงามซึ่งเป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่ทำได้
4.  มีการจัดประกวดให้บ่อยยิ่งขึ้น  โดยมีการจัดสรรงบประมาณบางส่วนเพื่อนำมาประชาสัมพันธุ์และกระจายการจัดประกวดในพื้นที่ต่างจังหวัด ตลอดจนรางวัลต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงและผู้ที่สนใจหันมาพัฒนาไก่แจ้และสืบเนื่องไปถึงการพัฒนาสายพันธุ์สืบต่อไป