โรคปอดบวม เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ทำให้แพะมีอาการ ไข้ มีน้ำมูกจมูกแห้ง หายใจดัง ไอเรื้อรัง จนแพะอ่อนแอและตายในที่สุด โดยแพะที่อยู่
ในช่วงหย่านมใหม่จะตายมากที่สุด
การรักษา สามารถใช้ยาเพนนิซิลลิน อ๊อกซิเตตราซัยคลิน คลอแรมเฟนนิคอล อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเวลา 3-5 วันติดต่อกัน และควรจัดการเรื่องความสะอาดของโรงเรือน และทำการถ่ายพยาธิแพะตามโปรแกรม ทุก 4-6 สัปดาห์
โรคปากเปื่อย เกิดจากเชื้อไวรัส อาการจะเป็นลักษณะ แผลนูนคล้ายหูด บริเวณริมฝีปากรอบจมูก รอบตา หากลุกลามมากลูกแพะอาจตายได้ หรืออาจตายเพราะปอดบวมแทรกซ้อน หากไม่รุนแรงสะเก็ดจะแห้งภายใน 28 วัน
การรักษา ใช้ยาสีม่วง(เจนเชี่ยนไวโอเลต) หรือทิงเจอร์ไอโอดีนทาแผลวันละ 1-2 ครั้ง
การป้องกัน ไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ หากพบแพะติดโรคให้แยกตัวที่ป่วยออก และทำการรักษาจนกว่าจะหาย
โรคปากเท้าเปื่อย
เกิดจากเชื้อไวรัส หากแพะไม่มีโรคแทรกซ้อนจะหายเองภายใน 21 วัน อาการที่พบ คือ ไม่กินอาหาร น้ำลายไหลยืด เซื่องซึม มีตุ่มใสตามกีบและเท้า เดินกะเผลกด้วยความเจ็บปวด หากติดเชื้อแทรกซ้อนอาจตายได้
การรักษา สามารถใช้ยาสีม่วง (เจนเชี่ยนไวโอเลต) ทาปากและกีบ หัวนม วันละครั้ง และฉีดยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน และฟังคำแนะนำจากสัตวแพทย์
การป้องกัน
- กักแพะที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่เป็นเวลา 14 วันเพื่อดูว่าแพะไม่เป็นโรค จึงปล่อยเข้าฝูงได้
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยปีละ 1 ครั้ง
โรคแอนแทรกซ์
โรคนี้ผู้เลี้ยงต้องระวังเพราะติดต่อสู่คนได้ อาการที่พบ คือ เบื่ออาหาร เซื่องซึม อ่อนเพลีย ซูบผอม มีน้ำมูก มีไข้และขาหน้าบวม และชักตายในที่สุด ดังนั้นควรทำลายซากด้วยการเผา และควรตรวจเลือดแพะทุก 1 ปี
การรักษา
- ไม่แนะนำให้รักษา ควรกำจัดออกจากฝูง หากตายควรเผาซากทิ้งเท่านั้น
การป้องกัน
- ตรวจเลือดแพะทุกตัวที่นำมาเลี้ยง หากพบต้องทำลายทิ้ง
- ตรวจสุขภาพแพะ และส่งห้องปฏิบัติการทุก 2 ปี
- กำจัดแพะป่วย และทำลายซากและห้ามนำมาบริโภค
โรคแท้งติดต่อ
โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยแพะจะแท้งลูกเมื่ออายุประมาณ 4-6 สัปดาห์ และเป็นโรคที่ติดต่อถึงคนได้ อาการที่เกิดขึ้นสังเกตุยาก ดังนั้นควรตรวจสุขภาพแพะปีละครั้ง วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือทำลายแพะที่เป็นโรค และไม่นำมาเลี้ยงทำพันธุ์ต่อ
โรคขาดแร่ธาตุ
โรคนี้มักเกิดขึ้นกับเพศเมีย โดยแพะขาดแร่ธาตุที่เพียงพอ หรืออาหารข้น อาการที่พบคือ แพะอ่อนแอ คอเอียง ท้องอืด เดินหมุนเป็นวงกลม ล้มลงนอนตะแคง และตายใน 2-3 วัน
การรักษา
- ให้อาหารข้น
- ให้แร่ธาตุสำหรับแพะเลียกิน
- ให้วิตามินแร่ธาตุด้วยการฉีด
การป้องกัน
ผู้เลี้ยงควรจัดสรรแร่ธาตุไว้ให้แพะเลียกินได้ตลอดเวลา
โรคไข้นม
โรคนี้มักเป็นช่วงที่แพะใกล้คลอด หรืออยู่ในช่วงให้นม สาเหตุเกิดจากขาดแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ อาการที่พบ คือแสดงอาการกล้ามเนื้อเกร็ง คอบิด ซีด หอบ ทรงตัวไม่ดี อ่อนเพลีย หากเป็นมากอาจตายได้
การรักษา
- เพิ่มปริมาณอาหารที่มีแคลเซียมในช่วงที่แพะให้นมและคลอด
- รีบติดต่อสัตวแพทย์ในท้องที่มารักษา
โรคท้องอืด
โรคนี้เกิดจากการที่แพะกินหญ้าอ่อนมากเกินไป หรือบางครั้งอาจกินอาหารข้นมากเกินไป
การรักษา
- ใช้วิธีเจาะแก๊สออกจากท้อง และกระตุ้นตัวแพะให้ลุกขึ้นเดิน